Vol. 10 No. 1 (2565): Silpa Bhirasri Journal of fine arts

					View Vol. 10 No. 1 (2565): Silpa Bhirasri Journal of fine arts

วารสารศิลป์ พีระศรีฉบับนี้เป็นปีที่ 10 ฉบับที่ 1 นับจากฉบับแรกจนปัจจุบัน เราภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมในการนำเสนอความก้าวหน้าทางวิชาการศิลปะสาขาต่าง ๆ ทั้งในแง่รูปแบบของบทความวิจัย บทความวิชาการ บทความระดับบัณฑิตศึกษา ฯลฯ ทั้งในภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ในปีแห่งการครบรอบทศวรรษนี้เราพยายามจะพัฒนามาตรฐานของวารสารให้สูงขึ้น สามารถเป็นแหล่งอ้างอิงทางวิชาการได้มากขึ้นและที่สำคัญที่สุด เรามุ่งหวังจะเป็นหนึ่งในดัชนีวัดความสำเร็จของการศึกษาทางศิลปะในประเทศไทย

สำหรับวารสารฉบับปีที่ 10 ฉบับที่ 1 นี้ มีบทความรวมทั้งสิ้น 5 บทความ ที่มีเนื้อหาตั้งแต่ประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันออก ตะวันตก มาจนศิลปะร่วมสมัยและศิลปะที่อาศัยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในการสร้างสรรค์ ดังนี้

บทความที่ 1 สีน้ำเงินในโลกที่ล่องลอยสมัยเอโดะ เป็นบทความที่สำรวจถึงลักษณะเฉพาะของสีน้ำเงินที่ได้รับความนิยมจากศิลปินภาพพิมพ์อุคิโยะเอะ ในสมัยโบราณสีน้ำเงินเป็นสีที่ศิลปินใช้น้อยเนื่องจากต้องบดมาจากหินสีน้ำเงินที่หายากและราคาแพง แต่การคิดค้นสีน้ำเงินที่ผลิตจากเคมีได้ทำให้ศิลปินเข้าถึงสีนี้ได้มากขึ้น ส่งผลให้ภาพที่ต้องการสีน้ำเงิน เช่น บริเวณท้องฟ้าในภาพทิวทัศน์แพร่หลายขึ้นมา ในกรณีของญี่ปุ่นมีเงื่อนไขเชิงสังคมวัฒนธรรมอื่น ๆ ที่ทำให้สีนี้แพร่หลายด้วย บทความนี้จะทำการสำรวจประเด็นดังกล่าว

บทความที่ 2 จิตรกรรมหุ่นนิ่งในศิลปะคลาสสิค บทความนี้จะทำการสำรวจหนึ่งในหัวข้อที่สำคัญที่สุดในจิตรกรรมตะวันตกโดยใช้หลักฐานตั้งแต่ในจิตรกรรมสมัยกรีกโบราณ จนกระทั่งสมัยคลาสสิค การจำแนกประเภททำให้เห็นว่าในหัวข้อที่ดูไม่สลักสำคัญนี้กลับเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้จิตรกรรมตะวันตกอุดมสมบูรณ์ในแง่ของความหมายที่สัมพันธ์กับชีวิตประจำวัน ซึ่งหลังจากนี้ศิลปินบางกลุ่มจะทำให้จิตรกรรมหุ่นนิ่งกลายเป็นจิตรกรรมแห่งความหมายเชิงสัญลักษณ์อันลึกซึ้ง เกี่ยวพันกับชีวิตและความตายและมรณานุสติในที่สุด

บทความที่ 3 การส่งผ่านสภาวะไร้รูปแห่งสายธารดิจิทัลสู่รูปธรรมในงานทัศนศิลป์ เป็นการสำรวจบทบาทของสื่อดิจิทัลที่แม้จะมีอายุไม่ยาวนานมากนักแต่เป็นสื่อที่ทรงพลังในการสำรวจประเด็นต่าง ๆ ที่ทำให้เทคโนโลยีและมนุษย์มีความสัมพันธ์กันในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของตัวตนของมนุษย์ทั้งในแง่ส่วนบุคคลและในแบบส่วนรวมของสังคมที่ถูกตั้งคำถามอย่างหนักจากผลกระทบของสื่อชนิดนี้เอง บทความนี้ยังชี้ให้เห็นถึงศักยภาพของสื่อนี้ผ่านผลงานสร้างสรรค์ของผู้เขียนบทความ/ ศิลปินเองด้วย

บทความที่ 4 คตินิยมเรื่องสีในศิลปะและวัฒนธรรมจีน บทความนี้ชี้ให้เห็นปัจจัยทางสังคม ปรัชญา ศาสนา ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่มีผลต่อการใช้สีประเภทต่าง ๆ ในงานจิตรกรรม สถาปัตยกรรม ไปจนกระทั่งหน้ากากงิ้ว และประเพณีบางประการ เช่น งานแต่งงาน งานศพ เป็นต้น นอกเหนือจากการให้ข้อมูลเกี่ยวกับวัฒนธรรมจีนแล้ว บทความที่ชวนอ่านนี้ยังกระตุ้นให้เราหวนกลับมาขบคิดเกี่ยวกับประเพณีการใช้สีในสังคมอื่น ๆ เพิ่มเติมอีกด้วย

บทความที่ 5 วัตถุสำเร็จรูปกับเลือดประจำเดือนในผลงานของศิลปินหญิงร่วมสมัย เป็นการสำรวจอาณาบริเวณการสร้างสรรค์ศิลปะโดยศิลปินหญิงร่วมสมัยที่สำคัญ เป็นที่ทราบกันดีว่าตั้งแต่ทศวรรษที่ 1970 เป็นต้นมา ศิลปินหญิงได้ทำการท้าทายกรอบของ “การสร้างสรรค์” ที่การนิยามมีมายาคติที่ให้อำนาจแก่ศิลปินชาย ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ศิลปินหญิงหลายท่านอาศัยองค์ประกอบในการสร้างสรรค์ที่ศิลปินชายไม่มีหรือไม่สามารถผลิตและเข้าถึงได้ นั่นคือเลือดประจำเดือน เนื้อหาและวิธีที่ศิลปินนำเสนอจึงกลายเป็นประเด็นสำคัญที่บทความจะศึกษาเพื่อมองหาข้อสรุปถึงศักยภาพขององค์ประกอบในลักษณะนี้

Published: 30-06-2022

Full Issue