การวิเคราะห์นิทานพื้นบ้านญี่ปุ่น
Abstract
งานวิจัยเรื่องวิเคราะห์นิทานพื้นบ้านญี่ปุ่นนี้ มีวัตถุประสงค์คือ 1) เพื่อรวบรวมและจำแนกประเภทของนิทานพื้นบ้านญี่ปุ่น ตามรูปแบบนิทานพื้นบ้านของสติธ ทอมป์สัน (Stith Thompson) 2) วิเคราะห์นิทานพื้นบ้านญี่ปุ่นตามกฎวรรณกรรมพื้นบ้านของเอกเซล ออลริค (Axel Olrik) และ 3) วิเคราะห์สภาพชีวิตความเป็นอยู่ของชาวญี่ปุ่นจากนิทานที่ได้รวบรวมและจำแนกประเภทไว้ทางด้านครอบครัว อาชีพ ความเชื่อประเพณี และค่านิยม
ผลการวิจัยสรุปได้ว่า นิทานพื้นบ้านญี่ปุ่นจำแนกออกได้เป็น 12 ประเภท คือ นิทานมหัศจรรย์ นิทานชีวิต นิทานวีรบุรุษ นิทานประจำถิ่น นิทานอธิบายเหตุ นิทานเทวปกรณ์ นิทานคติ นิทานเรื่องสัตว์ นิทานมุขตลก นิทานศาสนา นิทานเรื่องผี และนิทานเข้าแบบ การวิเคราะห์เนื้อหาของนิทานพื้นบ้านญี่ปุ่นพบว่า มีความเป็นสากลตามกฎวรรณกรรมพื้นบ้านของเอกเซล ออลริค และสะท้อนให้เห็นถึงสภาพความเป็นอยู่ของชาวญี่ปุ่นหลายด้านได้แก่ สถาบันครอบครัวมีทั้งลักษณะครอบครัวเดี่ยว ครอบครัวขยาย ครอบครัวรวม การประกอบอาชีพที่สำคัญมีอาชีพเกษตรกร นักรบ หมอ พระ ทอผ้า รับจ้าง และค้าขาย ความเชื่อมีความเชื่อเกี่ยวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ศาสนา ภูตผีปีศาจ และกฎแห่งกรรม ด้านประเพณีที่ปรากฏเป็นประเพณีทั้งส่วนบุคคลและประจำท้องถิ่น ค่านิยมนั้นยกย่องผู้มีสติปัญญา มีความรู้ ความกล้าหาญ มานะอดทน เพียรพยายาม กตัญญูรู้คุณ ซื่อสัตย์และมีจิตใจเอื้อเฟื้อต่อผู้อื่น
การวิเคราะห์นิทานพื้นบ้านญี่ปุ่นทำให้เห็นถึงลักษณะที่เป็นสากลของนิทาน เข้าใจถึงสภาพความเป็นอยู่และความต้องการพฤติกรรมที่เป็นแบบอย่างในสังคม ซึ่งชี้ให้เห็นถึงบทบาทสำคัญของนิทานพื้นบ้าน ด้านการถ่ายทอดแนวทางการดำเนินชีวิตของคนในสังคมญี่ปุ่นสืบทอดกันต่อมา แม้ว่าการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจสังคม วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีจะเจริญก้าวหน้าเพียงใดก็ตาม