บทบรรณาธิการ

Main Article Content

Somsak Amornsiriphong

บทคัดย่อ

บทบรรณาธิการ


วารสารสังคมศาสตร์บูรณาการ ภาควิชาสังคมศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ปีที่ 3 ฉบับที่ 2 (กรกฎาคม – ธันวาคม 2559) นี้ ประกอบด้วยบทความวิจัยและบทความวิชาการจำนวน 11 เรื่อง เนื้อหาของบทความทั้งหมดมีความหลากหลายครอบคลุมองค์ความรู้ของศาสตร์ทางด้านสังคมหลายแขนงทั้งรัฐประศาสนศาสตร์ สังคมศาสตร์สิ่งแวดล้อม อาชญาวิทยา และการศึกษา มีนักศึกษา คณาจารย์ นักวิชาการ ที่เป็นผู้สร้างสรรค์ผลงานทั้งจากภายในและภายนอกหน่วยงาน


บทความหลายเรื่องเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับการบริหารจัดการและการพัฒนาองค์การที่มีทั้งโรงพยาบาล องค์การด้านความมั่นคงทางทหารและตำรวจ อาทิ บทความเรื่อง การศึกษาความเข้าใจในด้านการป้องกันรักษาสถานที่เกิดเหตุของเจ้าหน้าที่ตำรวจสายตรวจสถานีตำรวจภูธรจังหวัดกาญจนบุรี ของภาชินี เดชรัตนสุวรรณ์ และวรธัช วิชชุวาณิชย เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างภาวะผู้นำเชิงจริยธรรมและวัฒนธรรมองค์การกับการเป็นองค์การแห่งการเรียนรู้ของกรมจเรทหารบก ของนิมิตรา สิงห์ทองอยู่ และเรื่องความสุขในการทำงาน การสนับสนุนทางสังคม ที่มีผลต่อประสิทธิภาพในการทำงานของบุคลากรในโรงพยาบาล ของปริยากร บุญญา นอกจากนี้ ยังมีบทความที่เกี่ยวกับองค์ความรู้ด้านการจัดการศึกษาเรื่อง การประเมินหลักสูตรชั้นนายร้อยเหล่าทหารการเงิน กองบัญชาการกองทัพไทย ของไชยา ศรีนวล และยังมีองค์ความรู้เกี่ยวกับปัญหาความยากจนที่ผู้เขียนได้สังเคราะห์องค์ความรู้ให้เห็นถึงปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการลดความยากจน ของชูชิต ชายทวีป เรื่องปัจจัยสำเร็จของการลดปัญหาความยากจน ยิ่งไปว่านั้น ยังมีบทความที่สะท้อนให้เห็นถึงการเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุสำหรับองค์กรภาคเอกชนด้วย ของพลอยพัชร์ กิจเจริญเกษม เรื่องการเตรียมความพร้อมเพื่อการเกษียณอายุ ของพนักงานธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และยังมีบทความด้านการเงินการคลังในมิติของ Nano Finance เรื่อง ปัจจัยภายในองค์การที่มีความสัมพันธ์กับความสำเร็จในการนำนโยบายสินเชื่อรายย่อยเพื่อผู้ประกอบอาชีพ (Nano – Finance) ไปปฏิบัติของธนาคารออมสินในจังหวัดนครปฐม ของพัชรนันท์ เติมมี


นอกจากนี้ บทความที่ขยายพื้นที่ความรู้ในประเด็นที่เชื่อมโยงกับประชาคมอาเซียนจากนักวิชาการอย่าง วรรณวีร์ บุญคุ้ม และพจนา บุญคุ้ม ในมิติของการพัฒนารูปแบบกิจกรรมท่องเที่ยววิถีไทยสร้างสรรค์เส้นทางกาญจนบุรี-ทวาย และงานของจันทนา อินทฉิม ในมิติของความเชื่อมโยงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC เรื่อง การพัฒนาศักยภาพผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อก้าวไปสู่ AEC อย่างยั่งยืน และยังมีการสำรวจสถานองค์ความรู้เกี่ยวกับการกระจายอำนาจการปกครอง ของยศธร ทวีพล เรื่องการสังเคราะห์สถานภาพความรู้เกี่ยวกับการกระจายอำนาจในรอบสองทศวรรษ: ข้อเสนอแนะสู่การศึกษาในบริบทของสังคมไทย บทความเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่เป็นบทความที่ทรงคุณค่าในเชิงวิชาการที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในเชิงของการบริหารและพัฒนาองค์กร และการนำไปเป็นข้อมูลประกอบในการกำหนดนโยบายด้านต่าง ๆ สำหรับการพัฒนาประเทศได้ด้วย  


กองบรรณาธิการขอขอบคุณผู้ร่วมสร้างองค์ความรู้ และขอเชิญชวนนิสิต นักศึกษา นักวิจัย คณาจารย์ ตลอดจนผู้ที่สนใจจากสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ร่วมเสนอบทความเข้ารับการเผยแพร่สู่สาธารณะกับทางกองบรรณาธิการวารสารในฉบับต่อ ๆ ไป และสุดท้ายนี้ กองบรรณาธิการหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้อ่านวารสารจะได้รับประโยชน์อย่างสูงสุดจากองค์ความรู้ต่าง ๆ จากวารสารฉบับนี้ หากท่านมีข้อเสนอแนะประการใดอันที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาคุณภาพที่ดีขึ้นไปของวารสารนี้ กองบรรณาธิการขอน้อมรับด้วยความยินดีและความขอบคุณยิ่ง


 


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สมศักดิ์ อมรสิริพงศ์


บรรณาธิการ

Article Details

บท
บทบรรณาธิการ