บทบรรณาธิการ
Main Article Content
บทคัดย่อ
วารสารฉบับนี้เป็นฉบับที่สอง ที่ประกอบไปด้วยบทความวิจัยและบทความวิชาการ จำนวนทั้งหมด 14 เรื่อง ครอบคลุมองค์ความรู้ในศาสตร์หลาย ๆ สาขา อาทิ รัฐประศาสนศาสตร์ รัฐศาสตร์ สังคมศาสตร์สิ่งแวดล้อม อาชญาวิทยา เวชระเบียน และการศึกษา เป็นต้น บทความหลาย ๆ เรื่องสามารถนำองค์ความรู้ไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ อย่างบทความเรื่อง “การมีส่วนร่วมของผู้ประกอบการและผู้พักอาศัยหอพักเอกชนต่อการป้องกันยาเสพติด” ที่องค์ความรู้นำไปเป็นแนวทางในการป้องกันยาเสพติดสำหรับหอพักเอกชน นอกจากนี้ บทความอีกหลายเรื่องสะท้อนภาพองค์ความรู้เพื่อการบริหารองค์กรในหลากหลายมิติ ทั้งองค์กรทางการศึกษา องค์กรทางการแพทย์ และองค์กรตำรวจ ซึ่งสามารถนำองค์ความรู้ไปประยุกต์ใช้ได้อีกเช่นกัน อาทิ “ขวัญและกำลังใจของเจ้าหน้าที่ตำรวจในสังกัดกองบังคับการตำรวจนครบาล 6” “การศึกษาการสรุปรหัสคำวินิจฉัยโรค หัตถการและการผ่าตัดของค่ารักษาพยาบาลตามระบบกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน”“กลยุทธ์การพัฒนาด้านการติดต่อสื่อสารขององค์การทางการศึกษา”และ “การนำนโยบายโครงการมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติไปปฏิบัติ: กรณีศึกษามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์” ยิ่งไปกว่านั้น มีบทความจำนวนหนึ่งที่เป็นองค์ความรู้ในมิติของสิ่งแวดล้อมทั้งในปัจจุบันและอนาคตที่ควรจะเป็น อย่างเช่น “แนวทางในการเตรียมความพร้อมของชุมชนด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อรองรับระบบการขนส่งของโครงการท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวายในเขตพื้นที่ชายแดนไทย-พม่า บริเวณบ้านพุน้ำร้อน อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี” “ความตระหนักของประชาชนท้องถิ่นในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลน ศึกษากรณี ตำบลโคกขาม อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร” และที่สำคัญงานที่สะท้อนอนาคตภาพของความเป็นเมืองสีเขียวในศตวรรษที่ 21 ของ Alan Marshall เรื่อง “Eco-Utopia 4: Four Green Cities of the 22nd Century.”
นอกจากนี้ วารสารฉบับนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการขยายปริมณฑลทางปัญญาที่เปิดพื้นที่ให้บุคลากรสายสนับสนุนได้ร่วมเผยแพร่องค์ความรู้จากการวิจัยในการทำงานประจำ ไม่ว่าจะเป็นผลงานเรื่อง “แนวปฏิบัติที่ดีในการขอตำแหน่งทางวิชาการของบุคลากรสายวิชาการคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล” “ปัจจัยที่ส่งเสริมการเข้าร่วมกิจกรรมของนักศึกษาหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชานโยบายสาธารณะและการจัดการภาครัฐ (ภาคปกติและภาคพิเศษ)ภาควิชาสังคมศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล” และ “การสร้างมาตรฐานการให้บริการงานด้านการศึกษาของนักวิชาการศึกษา คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล”
กองบรรณาธิการขอขอบคุณผู้ร่วมสร้างองค์ความรู้ และขอเชิญชวนนิสิต นักศึกษา นักวิจัย คณาจารย์ ตลอดจนผู้ที่สนใจจากสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ร่วมเสนอบทความเข้ารับการเผยแพร่สู่สาธารณะกับทางกองบรรณาธิการวารสารในฉบับต่อ ๆ ไป และสุดท้ายนี้ กองบรรณาธิการหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้อ่านวารสารจะได้รับประโยชน์อย่างสูงสุดจากองค์ความรู้ต่าง ๆ จากวารสารฉบับนี้ หากท่านมีข้อเสนอแนะประการใดอันที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาคุณภาพที่ดีขึ้นไปของวารสารนี้ กองบรรณาธิการขอน้อมรับด้วยความยินดีและความขอบคุณยิ่ง
สมศักดิ์ อมรสิริพงศ์
Article Details
- วารสารสังคมศาสตร์บูรณาการ มหาวิทยาลัยมหิดล อนุญาตให้สามารถนำไฟล์บทความไปใช้ประโยชน์และเผยแพร่ต่อได้ โดยอยู่ภายใต้เงื่อนไขสัญญาอนุญาต CC Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International (CC BY-NC-ND 4.0) โดยต้องแสดงที่มา/การอ้างอิงจากวารสาร – ไม่ใช้เพื่อการค้า – ห้ามแก้ไขดัดแปลงเนื้อหา
- ข้อความที่ปรากฏในบทความในวารสารฯ เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียนแต่ละท่าน ไม่เกี่ยวข้องกับกองบรรณาธิการวารสารฯ (ซึ่งหมายรวมถึง บรรณาธิการ ผู้ทรงคุณวุฒิในกองบรรณาธิการ หรือ บรรณาธิการรับเชิญ) แต่อย่างใด ความรับผิดชอบองค์ประกอบทั้งหมดของบทความแต่ละเรื่องเป็นของผู้เขียนแต่ละท่าน หากมีความผิดพลาดใด ๆ ผู้เขียนแต่ละท่านจะรับผิดชอบบทความของตนเอง ตลอดจนความรับผิดชอบด้านเนื้อหาและการตรวจร่างบทความเป็นของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องกับกองบรรณาธิการวารสารฯ
- กองบรรณาธิการขอสงวนสิทธิ์ในการตัดทอน/ปรับแก้ถ้อยคำบางประการเพื่อความเหมาะสม