การศึกษาความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับทักษะการตัดสินใจหลีกเลี่ยงเมื่อถูกชักชวนให้ทดลองใช้ยาเสพติดของนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการ D.A.R.E ประเทศไทย

Main Article Content

ภควดี ประดับเพชรรัตน์
ณัฏฐาภรณ์ โสกัณฑัต

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับทักษะการตัดสินใจหลีกเลี่ยงเมื่อถูกชักชวนให้ทดลองใช้ยาเสพติดของนักเรียน และเพื่อศึกษาผลจากการสร้างทักษะการตัดสินใจหลีกเลี่ยงเมื่อถูกชักชวนให้ทดลองใช้ ยาเสพติดของนักเรียน รวมทั้งเพื่อศึกษาข้อเสนอแนะแนวทางในการพัฒนาระบบการให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับทักษะการตัดสินใจหลีกเลี่ยงเมื่อถูกชักชวนให้ทดลองใช้ยาเสพติดของนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการ D.A.R.E. ประเทศไทย ซึ่งเป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยการสัมภาษณ์เชิงลึก      (In-depth Interview) จากกลุ่มผู้ให้ข้อมูลหลักซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของตำรวจภูธรภาค 1 และ ภาค 7 การสุ่มตัวอย่างในครั้งนี้เป็นการสุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง โดยคัดเลือกจากครูตำรวจ D.A.R.E. ที่มีประสบการณ์การสอนโครงการ D.A.R.E. ประเทศไทยที่ผ่านมาจำนวนไม่น้อยกว่า 10 ห้องเรียน ได้แก่ กลุ่มครูตำรวจ D.A.R.E. จำนวน 5 คน กลุ่มครูประจำชั้นของนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่เข้าร่วมโครงการ D.A.R.E. ประเทศไทย ในปีการศึกษา 2553 จำนวน 5 คน กลุ่มผู้ปกครองของนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่เข้าร่วมโครงการ D.A.R.E. ประเทศไทย ในปีการศึกษา 2553 จำนวน 5 คน และกลุ่ม นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่เข้าร่วมโครงการ D.A.R.E. ประเทศไทย ในปีการศึกษา 2553 จำนวน 5 คน รวมทั้งสิ้น 20 คน


ผลการศึกษาพบว่า ด้านความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับทักษะการตัดสินใจหลีกเลี่ยงเมื่อถูกชักชวนให้ทดลองใช้ยาเสพติดของนักเรียนนั้น กลุ่มผู้ให้ข้อมูลหลักทั้งหมดให้ความคิดเห็นสอดคล้องกันว่า นักเรียนมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับทักษะการตัดสินใจหลีกเลี่ยงเมื่อถูกชักชวนให้ทดลองใช้ยาเสพติด เนื่องจากโครงการ D.A.R.E. ประเทศไทยและครูตำรวจ D.A.R.E. ได้ถ่ายทอดให้ทราบถึงโทษของยาเสพติดและวิธีการหลีกเลียงเมื่อถูกชักชวน รวมทั้งได้แนะนำรูปแบบการตัดสินใจแบบ D.A.R.E. 4 รูปแบบ ได้แก่ D (Define ระบุปัญหา) A (Assess ประเมินทางเลือก) R (Respond ตัดสินใจเลือก) E (Evaluate ประเมินผล) ซึ่งนักเรียนได้นำรูปแบบการตัดสินใจแบบ D.A.R.E. ไปใช้ในชีวิตประจำวัน นอกจากการตัดสินใจหลีกเลี่ยงยาเสพติดอีกด้วย


ส่วนผลจากการสร้างทักษะการตัดสินใจหลีกเลี่ยงเมื่อถูกชักชวนให้ทดลองใช้ยาเสพติดของนักเรียน พบว่านักเรียนที่เคยเข้าร่วมโครงการ D.A.R.E. ประเทศไทย จะมีพฤติกรรมที่ดีขึ้น โดยเฉพาะเด็กผู้ชาย จะไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดและสามารถปฏิเสธเมื่อถูกชักชวนให้ทดลองใช้ยาเสพติดได้ รวมทั้งสามารถนำความรู้และหลักการปฏิเสธยาเสพติดที่ได้รับไปถ่ายทอดและตักเตือนเพื่อนนักเรียนที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการ D.A.R.E. ประเทศไทย


สำหรับข้อเสนอแนะแนวทางในการพัฒนาระบบการให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับทักษะการตัดสินใจหลีกเลี่ยงเมื่อถูกชักชวนให้ทดลองใช้ยาเสพติดของนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการ D.A.R.E. ประเทศไทยนั้น กลุ่มผู้ให้ข้อมูลหลักเสนอให้มีโครงการ D.A.R.E. ประเทศไทยเข้ามาจัดการเรียนการสอนในโรงเรียนต่อไป และควรขยายชั้นเรียนโครงการ D.A.R.E. ประเทศไทยจากชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ให้เป็นระดับประถมศึกษาปีที่ 1-6 และมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 ด้วย รวมทั้งครูผู้สอนโครงการ D.A.R.E. ประเทศไทย ก็ควรจะเป็นครูตำรวจ D.A.R.E. เช่นเดิม

Article Details

บท
บทความวิจัย

References

คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด, สำนักงาน. (2550). รายงานผลการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ประจำปีงบประมาณ 2549. กรุงเทพมหานคร: บริษัท รำไทยเพลส จำกัด.
คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด, สำนักงาน. (2551). ยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหายาเสพติด ปี 2551. กรุงเทพมหานคร: ม.ป.ท..
ถนัด บวรชัย, ร้อยตำรวจเอก. (2540). การประเมินหลักสูตรเพื่อต่อต้านการใช้ยาเสพติดในเด็กนักเรียน (Drug Abuse Resistance Education) D.A.R.E. ประเทศไทย โดยใช้รูปแบบการประเมินซิปป์ (CIPP Model). สารนิพนธ์การศึกษามหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารการศึกษา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.
พรชัย ขันตี และคณะ. (2543). ทฤษฎีและงานวิจัยทางอาชญาวิทยา. กรุงเทพมหานคร: เน็ท.
มณฑวรรณ ยุชังกูล. (2546). ผลของการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมต่อความรู้ เจตคติ และทักษะในการป้องกันสารเสพติดของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จังหวัดนครสวรรค์. ปริญญานิพนธ์วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาสุขภาพจิต (ภาคในเวลาราชการ) คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
วราวัลย์ ธรรมเขตต์. (2550). ผลการดำเนินงานโครงการศึกษาเพื่อต่อต้านการใช้ยาเสพติดในเด็กนักเรียน (D.A.R.E ประเทศไทย) ในโรงเรียนบ้านริมใต้ อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่. การค้นคว้าแบบอิสระรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
อาภาศิริ สุวรรณานนท์ และคณะ. (2552). โครงการการประเมินผลโครงการ D.A.R.E.ของตำรวจภูธรภาค 1. มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต.
Emma Porio and Christine S. Crisol. (2004). The use of children in the production, sales and trafficking of drugs: A synthesis of participatory action-oriented research programs in Indonesia, the Philippines and Thailand. International Labour Office International Program on the Elimination of Child Labour (ILO-IPEC).