พลวัตการเข้าถึงที่ดินในชุมชนท้องถิ่นอีสาน : ข้อโต้แย้งเรื่องสิทธิชุมชน

Main Article Content

พฤกษ์ เถาถวิล

บทคัดย่อ

บทความนี้เสนอข้อโต้แย้งเรื่องสิทธิชุมชน โดยวิเคราะห์เรื่อง “การเข้าถึง” ทรัพยากรซึ่งเป็นประเด็นสำคัญในวรรณกรรมสิทธิชุมชน บทความถกเถียงกับข้อเสนอของ Ramitanon et al. (1993) ที่ว่า “ป่าชุมชน” เป็นระบบทรัพย์สินส่วนรวมของชุมชน ซึ่งสมาชิกมีสิทธิเข้าถึงทรัพยากรโดยเท่าเทียมกันตามหลักสิทธิการใช้ (usufruct rights) การเข้าถึงทรัพยากรเช่นนี้เป็นหลักการสำคัญที่เอื้อให้เกิดความเป็นธรรมต่อสังคม และความยั่งยืนของระบบนิเวศ  ในการถกเถียงกับข้อเสนอดังกล่าว ผู้เขียนนำทฤษฎีการเข้าถึงของ Ribot and Peluso (2003) มาวิเคราะห์กรณีศึกษาหมู่บ้านแห่งหนึ่งในภาคอีสาน โดยแสดงให้เห็นพลวัตการเข้าถึงที่ดินจากยุคตั้งถิ่นฐานชุมชน ยุคอำนาจรัฐเข้ามาควบคุมและจัดการที่ดินในชุมชน และยุคชุมชนภายใต้อุตสาหกรรมเกษตร การวิเคราะห์ทำให้พบว่าการเข้าถึงทรัพยากรมีความซับซ้อนและขึ้นกับเงื่อนไขทางสังคม ชุมชนไม่เคยดำรงอยู่อย่างหยุดนิ่งและอิสระ แต่เผชิญกับอำนาจและความเปลี่ยนแปลงจากทั้งภายนอกและภายในชุมชน การเข้าถึงทรัพยากรจึงเป็นพื้นที่ของการต่อสู้ต่อรอง จากข้อค้นพบของกรณีศึกษาในภาคอีสานของผู้เขียนเมื่อนำมาเป็นแนวทางพิจารณาข้อเสนอของ Ramitanon et al. (1993) ที่ว่า สิทธิการใช้เป็นหลักการพื้นฐานในการเข้าถึงทรัพยากรของชุมชน ผู้เขียนเห็นว่าการเข้าถึงทรัพยากรตามหลักสิทธิการใช้คงเกิดขึ้นได้ในชุมชนที่มีเงื่อนไขเฉพาะเท่านั้น เพราะโดยทั่วไปการเข้าถึงทรัพยากรเป็นกระบวนการต่อสู้ต่อรองของคนกลุ่มต่างๆ ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าการเข้าถึงที่ดินตามหลักสิทธิการใช้เป็นแนวคิดที่มีข้อจำกัดในการใช้ทำความเข้าใจสถานการณ์ที่ซับซ้อน เมื่อฐานคิดเรื่องสิทธิการใช้มีข้อจำกัด ทำให้แนวคิดสิทธิชุมชนมีข้อจำกัดตามไปด้วย ดังนั้นทางออกจากเรื่องนี้คือการหันมาพิจารณาการเข้าถึงทรัพยากรในฐานะกระบวนการต่อสู้ต่อรอง ซึ่งจะเป็นการพัฒนาแนวคิดสิทธิชุมชนให้ใช้ได้กับสถานการณ์การแย่งชิงทรัพยากรที่นับวันยิ่งซับซ้อนมากขึ้น.

Article Details

บท
บทความวิชาการ (Academic articles)