การเสริมสร้างความรักสากลเชิงพุทธบูรณาการ

Main Article Content

จันทร์ธรรม อินทรีเกิด
ณัฐปภัสร์ เฑียรทอง

บทคัดย่อ

บทความวิจัยเรื่องการเสริมสร้างความรักสากลเชิงพุทธบูรณาการมีวัตถุประสงค์๓ ประการ คือ ๑) เพื่อศึกษาความรักสากลและแนวคิดทฤษฏีความรักสากล ๒) เพื่อศึกษาหลักพุทธธรรมในการเสริมสร้างความรักสากล ๓) เพื่อเสนอแนวทางการเสริมสร้างความรักสากลเชิงพุทธบูรณาการ เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพโดยศึกษาจากเอกสารและการสัมภาษณ์เชิงลึกผู้ให้ข้อมูลสำคัญ จำนวน ๗ รูป/คน และ จำนวน ๓ องค์กร


ผลการวิจัยพบว่า ความรักเป็นอารมณ์ชนิดหนึ่งที่มีต่อบุคคลอีกคนหนึ่ง ส่งผลให้เกิดความรู้สึกผูกพัน ปรารถนาดีและอยากใกล้ชิดต่อบุคคลอีกคนหนึ่ง สามารถเปลี่ยนแปลงทั้งทางสร้างสรรค์และทางเสื่อมได้โดยการปฏิสัมพันธ์ทางอารมณ์ที่เป็นสภาพและเจตคติที่เกิดขึ้นระหว่างบุคคลสองคนโดยไม่จำกัดเพศและวัย ซึ่งความรักนั้นยังสร้างความมั่นใจให้กับคู่ครองที่อยู่ร่วมกัน โดยการหล่อหลอมความรู้สึกนึกคิดของคนสองคนเข้าด้วยกัน เพื่อให้เกิดความรักที่ยั่งยืนและถาวร การเสริมสร้างความรักสากลที่จะให้มั่นคงมากยิ่งขึ้น ต้องอาศัยความบริสุทธิ์ใจและใช้ปัญญาเป็นแนวทางในการปรับเปลี่ยนให้เหมาะกับยุคสมัย พร้อมทั้งสร้างความสัมพันธ์ของคนสองคนโดยใช้เมตตาและขันติมาเป็นเครื่องยึดเหนียวจิตใจ เพื่อที่จะช่วยเสริมสร้างความรักสากลที่เกิดขึ้นต่อกันและกันให้มั่นคงยิ่งขึ้นในการอยู่ร่วมกันในสังคม


หลักพุทธธรรมในการเสริมสร้างความรักสากล คือ การปฏิบัติตามหลักอัปปมัญญา ๔ ได้แก่ เมตตา หมายถึง ความรัก ความปรารถนาดีต่อผู้อื่น กรุณา ได้แก่ ความสงสาร มุทิตา คือ ความพลอยยินดี  มีจิตผ่องใส  แช่มชื่น เบิกบานอยู่เสมอ อุเบกขา คือ ความวางใจเป็นกลาง ไม่เอนเอียงด้วยความรักหรือชังและตามหลักคุณธรรมของพระโพธิสัตว์ ได้แก่ สุทธิ = บริสุทธิ์ ปัญญา รู้สิ่งที่ควรรู้ เมตตา คือ รักชีวิตทุกชีวิต ขันตี คือ อดกลั้น ซึ่งถือว่า เป็นขั้นพื้นฐานที่จะส่งเสริมการสร้างความรักของตนเองที่ไม่เบียดเบียนไม่ทำร้ายผู้อื่น ทั้งทางกาย วาจา และใจ โดยการประยุกต์การเสริมสร้างความรักสากลเชิงพุทธบูรณาการของคนในสังคมที่อยู่ร่วมกันซึ่งต้องมีหลักธรรมประจำใจและหลักปฏิบัติที่เป็นระบบควบคุมภายนอกของกาย วาจา ใจ พร้อมทั้งสร้างความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์เพื่อให้เกิดปัญญารู้เข้าใจมองเห็นสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง เกิดความซาบซึ้งใจโน้มไปหาคุณค่าอันดีงามที่เรียกว่า “ความรัก” ที่เป็นความปรารถนาของมนุษย์และสัตว์ที่ต้องการอยากให้ผู้อื่นมีความสุขและเป็นสิ่งที่มนุษย์ไขว่คว้า เพื่อนำเมตตามาใช้กับความรักตนเองและความรักของผู้อื่นนั้น ที่เปรียบเสมือนเข็มทิศนำทางในการพัฒนาชีวิตไปในทิศทางที่ดี ที่ถูกที่ควร และมีความเจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้นไปอีกด้วย


สำหรับแนวทางการเสริมสร้างความรักที่เป็นสากลที่ประกอบด้วยความรัก ความปรารถนาดี เพื่อให้ผู้อื่นและตนเองใช้เป็นแนวทางในการประยุกต์องค์ประกอบด้วย สุทธิ ปัญญา เมตตา ขันติ เพื่อการเสริมสร้างความรักสากลเชิงพุทธบูรณาการ พบว่า มีแนวทางการเสริมสร้างความรักสากลเชิงพุทธบูรณาการที่เป็นแบบอย่างที่ดี ๒ ประการคือ ๑. การสร้างความรักสากลต่อองค์กรในสังคม ๒.การสร้างความรักสากลที่มีต่อเพื่อนมนุษย์ในสังคม เพราะความรักเป็นสิ่งสำคัญที่มีบทบาทในชีวิตมนุษย์ ซึ่งคนที่ต้องการความรักความเข้าใจที่เป็นสากล ต้องเป็นผู้มีเมตตา มีความเห็นอกเห็นใจ มีความปรารถนา มองทุกคนเป็นเพื่อน แสดงออกด้วยความจริงใจ ไม่ต้องการสิ่งตอบแทน มีความรักสม่ำเสมอทุกคน

Article Details

บท
บทความวิจัย

References

มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๓๙.

จำนงค์ ทองประเสริฐ. ปรัชญาตะวันตกสมัยโบราณ, พิมพ์ครั้งที่ ๓. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๔๖.

วศิน อินทรสระ. ธรรมและชีวิต. กรุงเทพมหานครแ: กมลการพิมพ์. ๒๕๒๗.

พระธรรมปิฏก (ป.อ. ปยุตฺโต). ความรักจากวาเลนไทน์ สู่ความเป็นไทย. (กรุงเทพมหานคร: บริษัทพิมพ์สวย จำกัด, ๒๕๔๕.

พระเขมานันทะ. ชีวิตกับความรัก. กรุงเทพมหานคร: สุขภาพใจ, ๒๕๔๔.