โครงการพัฒนาองค์ความรู้และกระบวนการเสริมสร้างสุขภาวะในการลดปัจจัยเสี่ยงเชิงพุทธบูรณาการ
Main Article Content
บทคัดย่อ
บทความวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาองค์ความรู้และกระบวนการเสริมสร้างสุขภาวะในการลดปัจจัยเสี่ยงจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่ รวมทั้งรูปแบบและกระบวนการของการตั้งจิตอธิษฐานบวชใจเพื่อการลดปัจจัยเสี่ยงจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่ และเพื่อนำเสนอรูปแบบและกระบวนการเสริมสร้างสุขภาวะในการลดปัจจัยเสี่ยงเชิงพุทธบูรณาการ การศึกษาใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ โดยใช้วิธีการศึกษาจากเอกสาร และศึกษาจากข้อมูลภาคสนามโดยการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก จากบุคคลต้นแบบ จำนวน ๒ รูป และข้อมูลจากการสนทนากลุ่ม ๖ กลุ่ม ใน ๖ จังหวัด ๆ ละหนึ่งกลุ่ม ผลการวิจัยพบว่า
องค์ความรู้และกระบวนการเสริมสร้างสุขภาวะในการลดปัจจัยเสี่ยงจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่ แบ่งออกเป็น ๒ ด้าน ได้แก่ ๑) องค์ความรู้และกระบวนการทางพระพุทธศาสนา ๒) องค์ความรู้และกระบวนการเฉพาะทางและด้านอื่นๆ ต่างชี้ว่าสภาพแวดล้อมทั้งด้านครอบครัว สังคม เพื่อน วิถี-วัฒนธรรมท้องถิ่น โดยเฉพาะความเข้าใจว่าเป็นความสุขพื้นฐานและเป็นบวกมากกว่าเป็นลบ ล้วนแต่เป็นปัจจัยเสี่ยงที่มีอิทธิพลอย่างมาก ในขณะเดียวกัน ทางพระพุทธศาสนา การแพทย์และสาธารณสุขและด้านอื่นๆ ได้เสนอและพยายามดำเนินการเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงมาอย่างต่อเนื่อง สำหรับรูปแบบและกระบวนการของการตั้งจิตอธิษฐานบวชใจ นับได้ว่าเป็นนวัตกรรมบูรณาการที่มหัศจรรย์ที่ทำให้เกิดการลดปัจจัยเสี่ยงได้ โดยอาศัยความเชื่อมโยงระหว่างศรัทธาในพระพุทธศาสนากับประเพณีพิธีกรรมแล้วดึงเข้าสู่ภายในด้วยการตั้งจิตอธิษฐานบวชใจหรือการตั้งสัตย์ปฏิญาณ ส่วนรูปแบบและกระบวนการเสริมสร้างสุขภาวะในการลดปัจจัยเสี่ยงเชิงพุทธบูรณาการที่คณะวิจัยนำเสนอ มี ๒ วิธีการหลัก ได้แก่ ๑) วิธีการแห่งกัลยาณมิตร และ ๒) วิธีการแห่งปัญญา สำหรับการวิจัยครั้งต่อไปควรมีการศึกษาติดตามกลุ่มคนที่มีผลจูงใจต่อการลดปัจจัยเสี่ยงอย่างยั่งยืน คือ คนต้นแบบ พระสงฆ์ ผู้นำชุมชน และควรศึกษาในระดับนโยบายของชาติอย่างต่อเนื่องต่อไป
Article Details
บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนผู้แต่ง กองบรรณาธิการไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยเสมอไป