การพัฒนาชุดความคิดเชิงพุทธบูรณาการ: กรณีศึกษาผู้ประสบความสำเร็จในขอบข่ายการเลี้ยงชีพตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง

Main Article Content

Kannikar Khaw-ngern
Wutthinant Kantatian

บทคัดย่อ

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของดุษฎีนิพนธ์เรื่อง “การพัฒนาชุดความคิดเชิงพุทธ  บูรณาการ: กรณีศึกษาผู้ประสบความสำเร็จในขอบข่ายการเลี้ยงชีพตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง” มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ (๑) เพื่อศึกษาแนวคิดเรื่องชุดความคิดของแครอล เอส. ดเว็ค (Carol S. Dweck) และแนวปฏิบัติเพื่อพัฒนาชุดความคิดตามหลักพุทธธรรม (๒) เพื่อวิเคราะห์ชุดความคิดและกระบวนการเปลี่ยนชุดความคิดของปราชญ์ชาวบ้านที่มีความสอดคล้องกับแนวทางของดเว็คและหลักพุทธธรรม และ (๓) เพื่อเสนอแนวปฏิบัติเชิงพุทธบูรณาการในการพัฒนาชุดความคิดเพื่อเพิ่มผลสำเร็จตามเป้าหมายของบุคคลในขอบข่ายการเลี้ยงชีพตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง งานวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยแบบผสมผสานระหว่างการค้นคว้าวิจัยเอกสาร และการสัมภาษณ์เชิงลึกปราชญ์ชาวบ้านซึ่งเป็นผู้ประสบความสำเร็จในขอบข่ายการเลี้ยงชีพตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง ในฐานะเป็นผู้ให้ข้อมูลคนสำคัญ จำนวน ๕๕ คน


ผลการศึกษาพบว่า แนวปฏิบัติเชิงพุทธบูรณาการในการพัฒนาชุดความคิด เป็นการบูรณาการแนวทางพัฒนาชุดความคิด ๓ แนวทางคือ แนวทางของดเว็ค (Dweck) แนวทางที่มาจากการวิเคราะห์กระบวนการเปลี่ยนชุดความคิดของปราชญ์ชาวบ้าน และแนวทางตามหลักพุทธธรรม เพื่อการปรับเปลี่ยนจากชุดความคิดตายตัวไปสู่ชุดความคิดเพิ่มพูนที่เป็นสัมมา ซึ่งมีเป้าหมาย ๒ ประการ คือ (๑) เพื่อการปรับเปลี่ยนไปสู่ชุดความคิดเพิ่มพูน และ (๒) เพื่อการพิจารณาแยกแยะความคิดเห็นที่เป็นสัมมาหรือมิจฉาตามแนวพุทธธรรม แนวปฏิบัติเชิงพุทธบูรณาการในการพัฒนาชุดความคิดเพิ่มพูนที่เป็นสัมมานี้เป็นปัจจัยที่เอื้อต่อการเพิ่มผลสำเร็จตามเป้าหมายของบุคคล ที่สามารถนำไปปรับใช้กับการเลี้ยงชีพในบริบทอื่นๆ ได้อย่างกว้างขวาง

Article Details

บท
บทความวิจัย