สภาพปัญหาและการปรับตัวด้านวัฒนธรรม ของแรงงานไทยย้ายถิ่น รัฐปีนัง ประเทศมาเลเซีย Cultural Problems and Adaptation of Thai Expatriate Workers in Penang State, Malaysia

ผู้แต่ง

  • วรรณา ก้องพลานนท์

คำสำคัญ:

แรงงานฝีมือ, แรงงานไร้ฝีมือ, การปรับตัว

บทคัดย่อ

การวิจัยนี้เป็นงานวิจัยแบบผสมผสาน (Mixed Method Research) มีวัตถุประสงค์
เพื่อศึกษาสภาพปัญหาและการปรับตัวด้านวัฒนธรรมของแรงงานไทยในรัฐปีนัง
ประเทศมาเลเซีย โดยการวิจัยเชิงปริมาณเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยแบบสอบถามกับ
แรงงานไทยจำนวน 130 คน โดยแบ่งเป็นแรงงานไร้ฝีมือ 91 คน และแรงงานฝีมือ 39 คน
วิเคราะห์ข้อมูลด้วยโปรแกรม R เพื่อหาค่าเฉลี่ย และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน การวิจัย
เชิงคุณภาพเก็บข้อมูลโดยการสัมภาษณ์แบบเจาะลึกกับผู้ให้ข้อมูลจำนวน 19 คน โดย
แรงงานฝีมือจำนวน 9 คน และแรงงานไร้ฝีมือจำนวน 10 คน แล้วนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์
เนื้อหาโดยใช้หลักตรรกเทียบเคียงแนวความคิด ทฤษฎี และงานวิจัยควบคู่บริบท

ผลการวิจัยพบว่าแรงงานฝีมือมีปัญหาในการปรับตัวด้านวัฒนธรรมโดยรวมอยู่
ในระดับปานกลาง โดยมีปัญหาการใช้ภาษาอังกฤษในการทำงานสูงที่สุดและมีปัญหา
ความคับข้องใจกับวัฒนธรรมของหน่วยงานต่ำที่สุด ขณะที่แรงงานไร้ฝีมือมีปัญหาใน
การปรับตัวด้านวัฒนธรรมโดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง โดยมีปัญหาในการใช้ภาษา
อังกฤษในการทำงานสูงที่สุด และมีปัญหากับภาษามาเลย์ในการทำงานต่ำที่สุด จาก
การสัมภาษณ์แบบเจาะลึกพบว่าแรงงานไทยส่วนใหญ่มีการปรับตัวด้านวัฒนธรรมโดย
การพัฒนาทักษะทางภาษา มีการปรับตัวได้ดีต่อกฎระเบียบของหน่วยงาน สามารถ
อยู่ร่วมกับแรงงานต่างเชื้อชาติได้อย่างดี ผลการวิจัยนี้เป็นประโยชน์ต่อแรงงานไทยที่

สนใจเดินทางไปทำงานต่างประเทศ โดยเฉพาะในประเทศมาเลเซีย โดยนำแนวคิดไป
ปรับใช้ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปปรับใช้เพื่อประโยชน์สูงสุดต่อไป

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2015-10-01