บทบรรณาธิการ

ผู้แต่ง

  • ผศ.ดร.ปาริฉัตร ตู้ดำ

คำสำคัญ:

-

บทคัดย่อ

ปลายปี 2564 สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส “โควิด-19” ยังคงมีการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง มีการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสไปอีกหลากหลายสายพันธุ์ สังคมยังคงตื่นตระหนกต่อการแพร่ระบาดของเชื้อโรคที่ยังไม่มีวี่แววว่าจะหยุดลง เกิดปรากฎการณ์ทางสังคมมากมายซึ่งเป็นสิ่งใหม่ที่มนุษย์ในสังคมจำเป็นจะต้องเรียนรู้ร่วมกัน ดังนั้น แม้ว่าความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะมีส่วนช่วยในการพัฒนาด้านต่างๆ ของโลกใบนี้รวมทั้งช่วยให้มนุษย์อยู่รอดในสภาวะการณ์อันยากลำบากดังเช่นภาวะการเกิดโรคระบาดในยุคปัจจุบัน แต่คงไม่สามารถปฏิเสธความสำคัญของความรู้ด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ข้อค้นพบต่างๆ ด้านมนุษยศาสตร์และสังคมจะช่วยให้มนุษย์เกิดความเข้าใจสภาพของสังคมที่มีลักษณะพลวัตดังเช่นปัจจุบันได้ดียิ่งขึ้น การทำความเข้าใจมนุษย์และสังคมที่เราอยู่ช่วยยกระดับจิตใจ พัฒนาคุณภาพชีวิต สร้างสังคมที่มีคุณภาพและสันติสุข ดังนั้นการศึกษาด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ยังคงมีความสำคัญและทำควบคู่กันไปความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วารสารอินทนิลทักษิณสาร ปีที่ 16 ฉบับที่ 2 ยังคงประกอบด้วยบทความที่มีคุณค่าทางวิชาการและมีความหลากหลายโดยผ่านการพิจารณาจากผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องจากหลากหลายสถาบัน สาระในวารสารฉบับนี้ประกอบด้วยบทความที่น่าสนใจทั้งสิ้น 7 บทความ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง มติมหาชน: แนวคิดและปัญหาการเป็นเครื่องมือทางการเมืองของผู้นำฝูงชนทางการเมืองในการปกครองระบอบประชาธิปไตย จาก SKY Castle สู่ Parasite: ค่านิยม และวัฒนธรรมทางการศึกษาที่สะท้อนผ่านภาพยนตร์ – ละครซีรี่ส์เกาหลีใต้ ปัจจัยภายในที่เป็นอุปสรรคต่อทักษะการพูดภาษาอังกฤษของนักเรียนนักศึกษาไทย: อิทธิพลจากแนวคิดเชิงวัฒนธรรมไทย การเตรียมความพร้อมสร้างฐานข้อมูลตำแหน่งผู้สูงอายุ ตำบลพะตง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เพื่อลดความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของโรค Covid-19 อัตลักษณ์ความเป็นเกาหลีในมิติอาหารการกินของร้านอาหารเกาหลี จังหวัดสงขลา ออสเตรเลียกับบทบาทความเป็นมหาอำนาจระดับกลางในด้านการให้ความช่วยเหลือระหว่างประเทศ ช่วงปี ค.ศ. 1991 – 2018 และ “ดาลอ ปอเนาะจารีต” พื้นที่ผลิตซ้ำอัตลักษณ์มลายูมุสลิมสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ภายใต้ความขัดแย้งกับนโยบายการศึกษาชาติปัจจุบัน หวังเป็นอย่างยิ่งว่าวารสารอินทนิลทักษิณสารฉบับนี้จะเป็นสื่อกลางสะท้อนมุมมองปรากฎการณ์ทางสังคมให้นักวิชาการและผู้อ่านทุกท่านได้ศึกษาและค้นคว้าเพื่อนำผลการศึกษามาใช้ในการพัฒนาองค์ความรู้ด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ต่อไป สุดท้ายนี้ กองบรรณาธิการยังคงมุ่งมั่นในการทำงานเพื่อรักษาคุณภาพของวารสารให้อยู่ในมาตรฐานทางวิชาการ หากมีคำแนะนำหรือข้อติชมอันใด กรุณาส่งมาได้ที่กองบรรณาธิการ จักเป็นพระคุณยิ่ง 

References

-

Additional Files

เผยแพร่แล้ว

2021-12-29