วรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับละครชาวบ้านภาคใต้ : สารัตถะและการสืบทอด

ผู้แต่ง

  • วินัย สุกใส

คำสำคัญ:

ละครชาวบ้านภาคใต้, สารัตถะ, หนังตะลุง, ลิเกป่า

บทคัดย่อ

การวิจัยมีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) ศึกษาความเกี่ยวข้องระหว่างวรรณกรรมพื้นบ้านกับละครภาคใต้ 3 ประเภท (2) ศึกษาลักษณะและสารัตถะของวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับละครชาวบ้านภาคใต้  (3) ศึกษาวิธีการสืบทอดวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับละครชาวบ้านภาคใต้ และ (4) ศึกษาการปรับเปลี่ยนบทบาทของวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับละครชาวบ้าน และแนวทางในการอนุรักษ์และส่งเสริม  โดยศึกษาจากตัวบทวรรณกรรมที่ใช้ในการแสดงละครชาวบ้านกลุ่มไทยพุทธ 3 ชนิด คือ หนังตะลุง  โนรา และลิเกป่า ใช้วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ และนำเสนอผลการศึกษาด้วยวิธีพรรณนาวิเคราะห์  ผลการวิจัยพบว่า ตัวบทวรรณกรรมเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ละครใช้ในการแสดง  มีทั้งที่เป็นลายลักษณ์อักษรและมุขปาฐะที่เป็นตัวบทเก่าและสร้างสรรค์ขึ้นใหม่แนวสัจจนิยม เพื่อปรับใช้ในการแสดงประกอบพิธีกรรม การแสดงเพื่อความบันเทิง และใช้เป็นตำรากลอนของละครชาวบ้าน โดยพบว่ามีการปรับใช้ทั้งในส่วนของโครงเรื่อง อนุภาคของเรื่องและตัวละคร  ตลอดจนการนำตัวบทเก่ามาใช้เฉพาะกรณี  ตัวบทที่ศึกษามีสารัตถะที่เด่นมาก คือ สารัตถะที่เกี่ยวกับโลกและจักรวาลที่แสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาในการประสมประสานความเชื่อตั้งเดิม ความคิดลัทธิฮินดู และ พุทธศาสนา สารัตถะเกี่ยวกับระบบทางสังคม และสารัตถะเกี่ยวกับระบบคุณธรรมและจริยธรรม  ในด้านการสืบทอดวรรณกรรมพบว่า วัฒนธรรมการเรียนรู้และการสืบทอดวรรณกรรมของศิลปินมี 3 แบบ คือ แนวจารีตที่ยึดถือปฏิบัติมาแต่อดีต แนวครูพักลักจำ และแนวสมัยนิยมอันได้แก่การเรียนรู้ในระบบการศึกษาสมัยใหม่ มีสืบทอดเนื้อหาของวรรณกรรมโดยการคงต้นแบบเดิม ปรับปรนตามเงื่อนไขการใช้ การสร้างใหม่โดยใช้เนื้อเรื่องหรืออนุภาคจากวรรณกรรมเก่า ตลอดจนการสร้างแนวคิดจินตนาการ ในประเด็นบทบาทและความเปลี่ยนแปลงของวรรณกรรมละครชาวบ้านและแนวทางในการอนุรักษ์และส่งเสริม พบว่าละครชาวบ้านมีบทบาทในวิถีชีวิตของชาวใต้ในด้านของการแสดงเพื่อประกอบพิธีกรรม การแสดงเพื่อความบันเทิง การอบรมคุณธรรมจริยธรรม และการเผยแพร่ความรู้และข่าวสารต่าง ๆ โดยบทบาทเหล่านี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย แต่บทบาทสำคัญที่ยังคงอยู่ตลอดมาคือ บทบาทในด้านของการแสดงประกอบพิธีกรรม แนวทางในการอนุรักษ์และส่งเสริม มีทัศนะที่แตกต่างกันเป็น 2 กลุ่มหลัก ๆ คือ กลุ่มที่มีทัศนะเชิงอนุรักษ์เห็นว่า ละครพื้นบ้านเป็นศิลปะการแสดงที่จะต้องมีการอนุรักษ์รูปแบบเก่าไว้ให้มากที่สุด กับกลุ่มที่มีทัศนะว่าจะต้องมีการปรับเปลี่ยนหรือเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย แต่ก็ต้องรักษาอัตลักษณ์ของละครพื้นบ้านไว้ด้วย

References

กลิ่น คงเหมือนเพชร. (2544). วรรณกรรมโนรา คณะมโนราฉลาย ประดิษฐ์ศิลป์ จังหวัดกระบี่.
กระบี่ : สภาวัฒนธรรมจังหวัดกระบี่.

กลิ่น คงเหมือนเพชร. (2552). การศึกษาวิเคราะห์คติความเชื่อเรื่องผีสางเทวดาในชุมชนภาคใต้.
กระบี่ : ศูนย์วัฒนธรรมสถาบันการพลศึกษาวิทยาเขตกระบี่.

ฉวีวรรณ กิจเจริญเกียรติ. (2535). ความเปลี่ยนไปในความเปลี่ยนแปลงของหนังตะลุง, วารสารแลใต้.
1(2),8 – 28.

เฉลิม มากนวล และจรัส ชูชื่น. (2540). การศึกษาการใช้ภาษาและโลกทัศน์ในบทมโนราห์ (รายงาน
ผลการวิจัย). ปัตตานี : มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี.

นิธิ เอียวศรีวงศ์. (2534). วัฒนธรรมราษฎร์กับวัฒนธรรมหลวง, ใน พรศักดิ์ พรหมแก้ว (บรรณาธิการ).
พื้นบ้านพื้นเมือง ถิ่นไทยทักษิณ. 31-42. สถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สงขลา.

บัญชา ธนบุญสมบัติ. (2554). ศิวนาฏราช การดำเนินไปของจักรวาล VS พัฒนาการของสังคม.
สืบค้นเมื่อ 12 มีนาคม 2554,จาก : http://www.neutron.rmutphysics.com/news.

รวิสรา ศรีชัย. (2549). โนราในสถานศึกษา จังหวัดสงขลา. (วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต)
กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

วราภรณ์ นุ่นแก้ว. (2549). โนราเติม เมืองตรัง. สงขลา : บ้านสืบสานสร้างตำนานโนราเติม วิน วาด.

สุชาติ ทรัพย์สิน. (2527). รามเกียรติ์ของหนังตะลุงเมืองนคร, ใน ชาญกิจ ชอบทำกิจ (บรรณาธิการ),
เดือนสิบ ’27, 58-63. กรุงเทพฯ : กรุงสยามการพิมพ์.

สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์. (2522). หนังตะลุง. สงขลา : มงคลการพิมพ์.

อุดม หนูทอง. (2536). โนรา. สงขลา : มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สงขลา, (อัดสำเนา).

อุดม หนูทอง. (2543). “ยศกิต : ตำรากลอนหนังตะลุง” สารนครศรีธรรมราช.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2017-06-30