การส่งต่อภูมิปัญญาท้องถิ่น “ภูมิปัญญาดูซง” สู่เยาวชนในครอบครัว: กรณีศึกษาจังหวัดนราธิวาส
คำสำคัญ:
การส่งต่อ, ภูมิปัญญาท้องถิ่น, ภูมิปัญญาดูซง, เยาวชนในครอบครัวบทคัดย่อ
ดูซง คือ สวนที่มีต้นไม้ผลหลากหลายชนิดอยู่ร่วมกัน เป็นภูมิปัญญาการทำ มาหากิน ของคนมลายูมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เป็นมรดกตกทอดมา ไม่น้อยกว่า 3 รุ่นอายุคน วัตถุประสงค์การวิจัยเพื่อศึกษาองค์ความรู้และการถ่ายทอด ภูมิปัญญาดูซง สู่เยาวชนในครอบครัว การวิจัยนี้ใช้ระเบียบวิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยการสัมภาษณ์ และสนทนากลุ่ม ผู้ให้ข้อมูลหลักมี 3 กลุ่ม ได้แก่ เจ้าของดูซง จำนวน 6 คน เยาวชน จำนวน 6 คน และผู้รู้เกี่ยวกับดูซง จำนวน 3 คน รวมทั้งหมด 15 คน พื้นที่วิจัยมี 6 หมู่บ้าน คือ บ้านกรือซอ และบ้านฮูมอบูเก๊ะ ตำบลแว้ง บ้านแม่ดง บ้านบาเละ และบ้านเปราะห์ ตำบลแม่ดง และบ้านบาลา ตำบลโละจูด อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส ผลการศึกษา บ่งบอกองค์ความรู้ในการเลือกพื้นที่ทำดูซงได้อย่างเหมาะสม แสดงระบบการแบ่งปันผลผลิตของครอบครัวและเครือญาติอย่างชัดเจนและยุติธรรม ก่อเกิดกิจกรรมประเพณีการพึ่งพาและความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ของชุมชน คนรุ่นก่อนเรียนรู้การทำ ดูซงด้วยการสังเกตและลงมือทำ มีการวางแผนการปลูกพืชให้มีกินตลอดปี โดยมีจิตใจที่มุ่งมั่นเป็นพื้นฐาน การถ่ายทอดภูมิปัญญาดูซงสู่เยาวชนในครอบครัวต้องเน้นการสร้างจิตสำนึก อาศัยปราชญ์ชุมชนให้ความรู้ และเรียนรู้ระบบนิเวศด้วยการลงมือปฏิบัติกิจกรรมในพื้นที่จริง ทั้งการเรียนรู้แบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการ