การศึกษาร่องรอยของบรรพชีวินบนภูมิประเทศแบบคาสต์เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงธรณีของจังหวัดสตูล

ผู้แต่ง

  • ประมาณ เทพสงเคราะห์

คำสำคัญ:

ร่องรอยของบรรพชีวิน, ภูมิศาสตร์บรรพกาล, การท่องเที่ยวเชิงธรณี, ภูมิประเทศคาสต์, ที่ตั้งสัมพันธ์

บทคัดย่อ

         การวิจัยเรื่อง “การศึกษาบรรพชีวินบนภูมิประเทศแบบคาสต์เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงธรณีของจังหวัดสตูล” มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาลักษณะที่ตั้งสัมพันธ์ของร่องรอยบรรพชีวินกับภูมิประเทศคาสต์ ชนิดของร่องรอยบรรพชีวินที่พบในภูมิประเทศคาสต์ หรือชั้นหินอื่นตามธรณีกาลในเขตอุทยานธรณี และศึกษาโอกาสการสร้างการท่องเที่ยวเชิงธรณีจังหวัดสตูล วิธีดำเนินการวิจัยเป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ การเก็บข้อมูลโดยใช้วิธีการสำรวจในภาคสนามในเขตอุทยานธรณีของ 4 อำเภอ ในจังหวัดสตูลได้แก่ เมืองสตูล ละงู ทุ่งหว้า มะนัง มีการบันทึกโดยการสังเกต ถ่ายภาพประกอบ การเลือกตัวอย่างแบบเจาะจงจากแหล่งที่เคยพบร่องรอยบรรพชีวินจากพื้นที่หินปูนและพื้นที่จากการขุดภูเขาทำให้พบร่องรอยบรรพชีวินได้ ตั้งแต่ยุคแคมเบรียนถึงยุคเพอร์เมียน จำนวน 9 แหล่ง และผู้ให้ข้อมูลหลักโดยการสัมภาษณ์นายกองค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งหว้า นักธรณีวิทยาและนักวิชาการท้องถิ่น จำนวน 10 คน ผลการวิจัยพบว่า 1) ลักษณะที่ตั้งสัมพันธ์ของภูมิประเทศคาสต์พบร่องรอยบรรพชีวินในหินปูนทั้งแคลไซต์ และโดโลไมต์ เป็นชั้นสลับกับหินดินดาน หินทราย หินเชิร์ต แทรกสลับในบางแหล่ง 2) ร่องรอยบรรพชีวินที่สำคัญของภูมิประเทศคาสต์ ได้แก่ นอติลอยด์ แอมโมนอยด์สาหร่ายสโตรมาโตไลต์ ในแหล่งหินปูนและยังพบร่องรอยบรรพชีวินของไทรโลไบต์ หอยกาบคู่ ในแหล่งที่สลับชั้นจากที่ตั้งในแหล่งดังนี้ ถำ้ภูผาเพชร เขาโต๊ะสามยอด เขาแดง บ้านห้วยแร่ บ้านคลองขุด ถ้ำเลสเตโกดอน เขาโต๊ะหงาย ควนทัง เขาน้อย 3) โอกาสการสร้างการท่องเที่ยวเชิงธรณีพบว่าเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับประชาชนตั้งแต่ระดับท้องถิ่น ไปสู่ระดับโลก มีการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์ อุทยานธรณี การจัดงานประจำปีสตูลฟอสซิล เฟสติวัล และการสร้างโปรแกรมการท่องเที่ยวเชิงธรณีได้

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2018-11-07