จาก “พิธีกรรม” สู่ “วันหยุดราชการ” จุดกำเนิดวันสำคัญแห่งชาติของรัฐไทย
คำสำคัญ:
ปฏิทิน, วันหยุดราชการ, วันสำคัญแห่งชาติบทคัดย่อ
บทความนี้ต้องการศึกษาจุดกำเนิดของ “วันสำคัญแห่งชาติ” ของรัฐไทย โดยใช้ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมในช่วงหลังการทำสนธิสัญญาเบาว์ริงมาเป็นจุดเริ่มต้นของการสืบหาร่องรอยของการเกิดขึ้นของวันสำคัญแห่งชาติ และพบว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้ได้ส่งผลอย่างสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีในการนับ “วัน” ของรัฐไทย คือการเปลี่ยนไปใช้การนับวันตามแนวทางของปฏิทินสุริยคติ ส่งผลให้รัฐสามารถที่จะผนวกพลเมืองให้เข้ามาอยู่ภายใต้ “วัน” เดียวกันได้ ในความหมายของการที่พลเมืองนั้นจะสามารถรับรู้ถึงวันอย่างเป็นสาธารณะอย่างเสมอกันทุกคนและมีลักษณะที่จะเคลื่อนผ่านไปในแต่ละปีแบบเป็นกลไกอย่างแม่นยำ ซึ่งพบว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้ได้ส่งผลให้ “สำนึกวันนี้ในอดีต” มีการขยายตัวมากยิ่งขึ้นทั้งที่เป็นสำนึกต่อรัฐและของบุคคล อย่างไรก็ตามรัฐได้เข้ามาทำการกำหนดทิศทางของสำนึกดังกล่าวนี้ด้วยการเคลื่อนย้ายพิธีกรรมที่เคยจรรโลงความสัมพันธ์เชิงอำนาจของรัฐสมบรูณาญาสิทธิราชย์ที่เคยได้อิงอยู่กับปฏิทินแบบเก่าที่เริ่มไม่สัมพันธ์กับผู้คนในสังคมในสภาวะสมัยใหม่ให้เข้ามาสู่ปฏิทินแบบใหม่ในรูปแบบของการเป็น “วันหยุดราชการ” อันเป็นวันสำคัญแห่งชาติประเภทแรกของรัฐไทยเพื่อผนวกสร้าง “สำนึกความทรงจำบนหน้าปฏิทิน” ของพลเมือง แต่ในขณะเดียวกันก็พบว่าการสร้างระบบวันหยุดราชการของรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งถือเป็นระยะเริ่มแรกของวันหยุดราชการนั้นยังไม่มีความลงตัวจึงทำให้ไม่สามารถที่จะสร้างสำนึกความทรงจำบนหน้าปฏิทินให้กับพลเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ