การฟื้นฟูและส่งเสริมการปลูกข้าวพื้นเมืองพันธุ์ดอกพะยอมปลอดสารพิษ ตำบลป่าพะยอม อำเภอป่าพะยอม จังหวัดพัทลุง

ผู้แต่ง

  • ชลลดา แสงมณี ศิริสาธิตกิจ
  • ทวนธง ครุฑจ้อน
  • จาริณ แซ่ว่อง

คำสำคัญ:

ปลอดสารพิษ, เครือข่าย, การถ่ายทอดองค์ความรู้, การแลกเปลี่ยนเรียนรู้

บทคัดย่อ

การศึกษาเรื่องการฟื้นฟูและส่งเสริมการปลูกข้าวพื้นเมืองพันธุ์ดอกพะยอมปลอดสารพิษ  ตำบลป่าพะยอม  อำเภอป่าพะยอม จังหวัดพัทลุง  ในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประวัติความเป็นมาของแบบแผนการผลิตและเงื่อนไขของการปลูกข้าวพื้นเมืองพันธุ์ดอกพะยอมในชุมชนตำบลป่าพะยอม  และเพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้และถ่ายทอดเทคนิควิธีการปลูกข้าวพื้นเมืองพันธุ์ดอกพะยอมปลอดสารพิษในชุมชนตำบลป่าพะยอม  ตลอดจนเพื่อฟื้นฟูและส่งเสริมการปลูกข้าวพื้นเมืองพันธุ์ดอกพะยอมปลอดสารพิษในชุมชนตำบลป่าพะยอม  โดยการวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม ที่เน้นการศึกษาทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ

ข้าวดอกพะยอมเป็นข้าวพันธุ์พื้นเมืองของพื้นที่ตำบลป่าพะยอม  ซึ่งได้สูญพันธุ์ไปจากพื้นที่มาระยะเวลาหนึ่งแล้ว  สำหรับแบบแผนการผลิตข้าวพื้นเมืองพันธุ์ดอกพะยอมในพื้นที่โดยภาพรวมมีลักษณะแบบแผนการผลิตเช่นเดียวกับการปลูกข้าวพันธุ์อื่นๆ ที่มีอยู่ทั่วไปในพื้นที่  สำหรับ  “แนวคิดการนำข้าวดอกพะยอมกลับบ้าน”  เป็นแนวคิดที่เกิดจากความต้องการของชาวนาในพื้นที่ตำบลป่าพะยอมที่ต้องการรักษาและอนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นเมืองพันธุ์ดอกพะยอมที่สูญหายไปจากพื้นที่ให้กลับคืนสู่พื้นนาของชาวนาในพื้นที่อีกครั้งหนึ่ง โดยแนวคิดดังกล่าวได้ถูกแปลงมาเป็นการปฏิบัติด้วยความร่วมมือจากบุคคลและหน่วยงานต่างๆ  ที่เกี่ยวข้อง  ในลักษณะของการจัดทำแปลงนาสาธิตขึ้นในพื้นที่  จำนวน 2 ครั้ง  ซึ่งผลจากการทำแปลงนาสาธิตทั้ง  2 ครั้ง ส่งผลให้กลุ่มชาวนาในพื้นที่ได้ค้นพบองค์ความรู้และเกิดแนวคิดเกี่ยวกับการทำนาขึ้นหลายประการ  และจากการทดลองทำแปลงนาสาธิตทั้ง 2  ครั้ง  พบว่าปัญหาของการทำนาปลูกข้าวพันธุ์ดอกพะยอมที่สำคัญๆ  ได้แก่  ปัญหาหอยเชอร์รี่  ปัญหาโรคเชื้อรา  และปัญหาวัชพืช  

สำหรับผลจากการดำเนินการทำแปลงนาสาธิตทั้ง 2 ครั้ง ก่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้การถ่ายทอดองค์ความรู้  และการเกิดเครือข่าย  เช่น การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภายในชุมชน  การเกิดเครือข่ายความร่วมมือ  การขยายผลการเรียนรู้ทั้งในและนอกพื้นที่  ตลอดจนการถ่ายทอดและสร้างจิตสำนึกให้กับเยาวชนรุ่นหลัง  เป็นต้น  โดยกระบวนการเรียนรู้และการถ่ายทอดองค์ความรู้ดังกล่าว  นอกจากจะทำให้ชาวนาในพื้นที่ได้รับองค์ความรู้ใหม่ๆ เพื่อนำมาปรับประยุกต์ใช้กับตนเองแล้ว  ชาวนายังเกิดความเชื่อมั่นในแนวทางที่กำลังดำเนินการอยู่อีกด้วย  ขณะเดียวกันก็ส่งผลให้ชาวนามีตัวตนมากขึ้น  เมื่อเกิดปัญหาหรือความเดือดร้อนเกินกำลังความสามารถของตนก็สามารถพึ่งพาเครือข่ายต่างๆ  เหล่านี้ได้ในระดับหนึ่ง ในลักษณะของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2018-11-07