การศึกษาพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งและแนวทางป้องกันภัยแล้งในพื้นที่คาบสมุทรสทิงพระ

ผู้แต่ง

  • นาถนเรศ อาคาสุวรรณ

คำสำคัญ:

ภัยแล้ง, พื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง, ภูมิสารสนเทศ

บทคัดย่อ

การศึกษาปัจจัยการเกิดภัยแล้งเพื่อกำหนดพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งด้วยระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ และแนวทางป้องกันบรรเทาในพื้นที่คาบสมุทรสทิงพระมีวัตถุประสงค์ของการวิจัย 3 ประการ คือ 1) เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเกิดภัยแล้งบริเวณพื้นที่คาบสมุทรสทิงพระ 2) เพื่อกำหนดพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดภัยแล้งบริเวณพื้นที่คาบสมุทรสทิงพระ 3) เพื่อศึกษาแนวทางป้องกันภัยแล้งในพื้นที่คาบสมุทรสทิงพระ โดยข้อมูลที่นำมาใช้ในการศึกษาประกอบด้วยข้อมูลปัจจัยที่มีผลต่อการเกิดภัยแล้ง ได้แก่ ข้อมูลปริมาณฝนรายปีจำนวน 15 ปี (พ.ศ. 2542 - 2556)  ข้อมูลจำนวนวันที่ฝนตกจำนวน 15 ปี ข้อมูลการใช้ประโยชน์ที่ดิน ข้อมูลการระบายน้ำของดิน และข้อมูลระยะห่างจากลำน้ำ วิเคราะห์ร่วมกับข้อมูลแสดงความสัมพันธ์ของชุมชนกับพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งจากการเก็บแบบสอบถาม แบบสัมภาษณ์ และฐานข้อมูลภูมิสารสนเทศ มีวิธีการศึกษาโดยใช้เทคนิคการประยุกต์ใช้ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ในการวิเคราะห์ปัจจัยเสี่ยงและพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดภัยแล้ง และการศึกษาความสัมพันธ์ของชุมชนกับพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งจะใช้วิธีการวิเคราะห์เชิงสถิติแบบร้อยละ

            ผลการศึกษาพบว่า ปัจจัยสำคัญที่เป็นตัวเร่งให้เกิดภัยแล้งในพื้นที่ศึกษาคือ ปริมาณฝนที่ตกและจำนวนวันที่ฝนตกในพื้นที่ศึกษาและพื้นที่ใกล้เคียง โดยมีปัจจัยเสริมที่ทำให้ปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ศึกษารุนแรงขึ้นคือ ระยะห่างจากลำน้ำของชุมชน ความสามารถในการระบายน้ำของดิน และการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ โดยพื้นที่เสี่ยงสูงต่อการเกิดภัยแล้งพบอยู่บริเวณด้านทิศใต้ของพื้นที่ศึกษาเป็นส่วนใหญ่ และในบางส่วนบริเวณตอนกลางของพื้นที่ เนื่องจากสภาพพื้นที่ไม่เหมาะสมต่อการเก็บกักน้ำทำให้ไม่มีพื้นที่กักเก็บน้ำที่เพียงพอ พื้นที่เสี่ยงปานกลางต่อการเกิดภัยแล้งพบว่ากระจายอยู่ทั่วไปในพื้นที่ศึกษา โดยเฉพาะกระจายอยู่ตามริมฝั่งทะเลและตอนกลางของพื้นที่ พื้นที่เสี่ยงต่ำต่อการเกิดภัยแล้งพบว่ากระจายอยู่ทั่วไปของพื้นที่ตั้งแต่บริเวณด้านตอนเหนือเรื่อยมาจนถึงบริเวณตอนใต้ของพื้นที่ศึกษา ยกเว้นบริเวณอำเภอสิงหนครที่พบพื้นที่เสี่ยงต่ำน้อยกว่าบริเวณอื่น ๆ และพื้นที่ที่ไม่เสี่ยงต่อภัยแล้งพบว่ากระจายอยู่ตามบริเวณด้านตอนเหนือของพื้นที่ศึกษา

การศึกษาความสัมพันธ์ของชุมชนบริเวณคาบสมุทรสทิงพระกับพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดภัยแล้งพบว่า ชุมชนที่ตั้งอยู่บริเวณพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดภัยแล้งจะมีการเตรียมพร้อมป้องกันการเกิดภัยแล้งโดยประชาชนในชุมชนจะใช้ประสบการณ์จากการสังเกตฝนที่ไม่ตกติดต่อกันเป็นเวลานานเพื่อเตรียมตัวเฝ้าระวังการเกิดภัยแล้งมากที่สุด โดยประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่จะติดตามข่าวสารการเตือนภัยจากสื่อประเภทโทรทัศน์มากที่สุด เนื่องจากเป็นสื่อที่เข้าถึงประชาชนในแต่ละชุมชนได้ง่ายและสะดวกที่สุด นอกจากนั้นยังมีการรับฟังข่าวสารการเตือนภัยจากวิทยุกระจายเสียงประจำชุมชนในกรณีที่ชุมชนนั้นอยู่ห่างไกลจากตัวเมือง หรือประชาชนบางกลุ่มไม่มีเวลาในการติดตามข่าวสารเตือนภัยจากสื่อโทรทัศน์

แนวทางป้องกันภัยแล้งในพื้นที่คาบสมุทรสทิงพระควรมีทั้งมาตรการป้องกันทั้งระยะสั้นและระยะยาว ควรมีการเก็บข้อมูลภัยแล้งและข้อมูลหลังจากได้รับการช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำมาประเมินผลและหาแนวทางแก้ไขปัญหาภัยแล้งที่เหมาะสมในอนาคตต่อไป

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2018-11-07