วิถีโต๊ะบีแด: การดำรงภูมิปัญญาพื้นบ้าน สืบสานวัฒนธรรมชุมชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
คำสำคัญ:
โต๊ะบีแด, ภูมิปัญญาพื้นบ้าน, จังหวัดชายแดนภาคใต้บทคัดย่อ
การวิจัย เรื่อง วิถีโต๊ะบิแด : การดำรงภูมิปัญญาพื้นบ้านสืบสานวัฒนธรรมชุมชน บริเวณสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ฉบับนี้ เป็นการศึกษาโต๊ะบิแด (ผดุงครรภ์พื้นบ้าน) ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ อันได้แก่ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ในประเด็นวิถีชีวิต การดำรงภูมิปัญญา และแนวทางในการอนุรักษ์พัฒนาในฐานะผู้สืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น
ผลการศึกษาพบว่า โต๊ะบิแด คือ ผดุงครรภ์โบราณ (หมอตำแย) ที่มีบทบาทในกระบวนการตั้งครรภ์ และคลอดบุตรของสตรีไทยมุสลิมในท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในพิธีกรรม “แนแง” ที่เกี่ยวเนื่องกับจิตวิญญาณ การบริบาลและเภสัชกรรมพื้นบ้าน ตามจารีตประเพณีการเกิดของชาวไทยมุสลิมการที่โต๊ะบิแด เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในประเพณีท้องถิ่นอีกทั้งด้วยลักษณะเด่นของโต๊ะบิแด คือ ต้องเป็นสตรีที่มีคุณลักษณะเฉพาะ และสืบทอดคุณสมบัติในกลุ่มตระกูลโต๊ะบิแดจึงมีสถานภาพทางสังคมสูง และเป็นที่ยอมรับในชุมชน หมู่บ้าน
โต๊ะบิแดยิ่งมีความสำคัญในแง่การดำรง และสืบสานภูมิปัญญาของท้องถิ่น เพราะบทบาทตามจารีตในประเพณีการเกิดยังเป็นที่นิยมแพร่หลายมาอย่างต่อเนื่องแม้ว่าปัจจุบันการสาธารณสุขสมัยใหม่กระบวนการตั้งครรภ์และคลอดจะได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายก็ตามแต่บทบาทโต๊ะบิแด ก็ยังมีคุณค่าโดยมีการนำมาปรับให้เข้ากับสาธารณสุขสมัยใหม่ได้อย่างสอดคล้อง
ในการอนุรักษ์โต๊ะบิแดในฐานะผู้สืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นต้องบูรณาการความร่วมมือจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่ชาวชุมชน และผู้นำชุมชนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นภาครัฐและเอกชน ซึ่งกระบวนการดังกล่าวหากดำเนินการอย่างมีเป้าก็ยังทำให้โต๊ะบิแดสามารถดำรงอยู่คู่กับชุมชนได้อย่างยั่งยืน