แผนที่ผลลัพธ์ของนักเรียนที่สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร

Main Article Content

ยรรยง สุขเกษม
วรกาญจน์ สุขสดเขียว

บทคัดย่อ

               การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อทราบข้อมูลและแนวปฏิบัติในแต่ละขั้นตอนย่อยของแผนที่ผลลัพธ์ของนักเรียนที่สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร 2) แผนที่ผลลัพธ์ของนักเรียนที่สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร การวิจัยครั้งนี้ เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (qualitative research) ในลักษณะการวิจัยเอกสาร (document research) โดยใช้รูปแบบการนำเสนอแบบพรรณนา (descriptive) เก็บรวบรวมข้อมูลจากการศึกษาเอกสารแบบสอบถาม (questionnaires) แบบสัมภาษณ์ (interview from)  สอบถามผู้สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร ปีการศึกษา2559 และสัมภาษณ์ผู้อำนวยการสถานศึกษาโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครที่มีนักเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 9 คน ลักษณะการสัมภาษณ์เป็นแบบเจาะลึก (intensive interview) โดยสัมภาษณ์ด้วยตนเองเป็นรายบุคคล ประชากรในการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ นักเรียนที่สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร ปีการศึกษา 2559  จำนวน 805 คน โดยประยุกต์ใช้แผนที่ผลลัพธ์ในการดำเนินการจากตัวอย่างผู้จบการศึกษาที่ให้ข้อมูลจำนวน 686 คน คิดเป็นร้อยละ 85.22


               ผลการวิจัยพบว่า


               1. ขั้นตอนย่อยของแผนที่ผลลัพธ์ของนักเรียนที่สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร เป็นการศึกษาใน 3 ขั้นตอน 12 ขั้นตอนย่อยของแผนที่ผลลัพธ์ พบว่า การบริหารและนโยบายโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร โดยสำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับงานด้านการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน กำหนดนโยบาย เป้าหมาย การจัดทำแผนพัฒนาการศึกษาของกรุงเทพมหานคร จัดการศึกษาในระบบอย่างมีคุณภาพ มีภาคีหุ้นส่วนที่เป็น ผู้อำนวยการสถานศึกษา คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน สถาบันการศึกษา ผู้สำเร็จการศึกษาและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งขั้นออกแบบเจตนารมณ์ทางสำนักการศึกษา กรุงเทพมหานครได้กำหนดวิสัยทัศน์ให้กับโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานครนำไปใช้ ในขั้นการติดตามผลลัพธ์ตามแผนที่ยุทธศาสตร์ และการดำเนินงานขององค์กร พบว่า คุณภาพผู้เรียนกระบวนการจัดการเรียนการสอนมีความเหมาะสมในระดับดี และขั้นการจัดทำแผนการประเมินผล พบว่า ด้านบริบทรวมทั้งภาคีหุ้นส่วนมีความเหมาะสม ผู้สำเร็จการศึกษามีความรู้ความสามารถในระดับดี สามารถเรียนต่อในสถานศึกษาในระดับที่สูงขึ้น  


                2. แผนที่ผลลัพธ์ของนักเรียนที่สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร พบว่า นักเรียนที่สำเร็จการศึกษา จำนวน 9 โรงเรียน มีการศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยของรัฐบาล  28  มหาวิทยาลัย จำนวน  564  คน คิดเป็นร้อยละ 68.61 มหาวิทยาลัยเอกชน 19 มหาวิทยาลัย จำนวน 112  คน คิดเป็นร้อยละ 13.63 ต่ออื่น ๆ เช่น อาชีวศึกษา จำนวน  26 วิทยาลัยพลศึกษา 22 ประกอบอาชีพ 57  ไม่ศึกษาต่อ 15 ไม่สำเร็จการศึกษา 25 คน ลาออก 1 คน รวมเป็นจำนวน 146 คน คิดเป็นร้อยละ 17.76  ในการประเมินผลแผนที่ผลลัพธ์ พบว่า ผู้บริหารสถานศึกษาได้มีการหาแนวทางในการพัฒนาและปรับปรุงสถานศึกษา โดยกำหนดโครงการต่าง ๆ เพื่อรักษาคุณภาพของนักเรียน รวมถึงการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเพื่อยกระดับคุณภาพมาตรฐานการศึกษาให้ดียิ่งขึ้น ผู้บริหารสถานศึกษามีหน้าที่ในการสนับสนุนส่งเสริมการเรียนการสอน และสนับสนุนให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายช่วยสนับสนุนให้เกิดการจัดการเรียนรู้ ที่มีประสิทธิภาพ เกิดความหลากหลายต่อเนื่อง ร่วมสร้างประสบการณ์ตรงเปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้ และปฏิบัติจริง สร้างเครือข่ายส่งเสริมการเรียนรู้ มีการจัดโครงการ กิจกรรม ลงนาม MOU กับเครือข่ายหน่วยงานต่าง ๆ ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา

Article Details

บท
บทความวิจัย

References

-