แนวทางการบริหารกิจการนักศึกษาของมหาวิทยาลัยราชภัฏ
คำสำคัญ:
การบริหารกิจการนักศึกษา, มหาวิทยาลัยราชภัฏบทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อทราบ 1) องค์ประกอบการบริหารกิจการนักศึกษาของมหาวิทยาลัยราชภัฏ 2) แนวทางการบริหารกิจการนักศึกษาของมหาวิทยาลัยราชภัฏ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยคือมหาวิทยาลัยราชภัฏจำนวน 33 แห่ง โดยใช้หลักการของประคอง กรรณสูต ที่กำหนดให้ใช้ตัวอย่างไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 โดยกำหนดผู้ให้ข้อมูลแห่งละ 10 คนคือ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา แห่งละ 1 คน ตัวแทนรองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาของคณะ 4 คน ผู้อำนวยการกองพัฒนานักศึกษา 1 คน นายกองค์การนักศึกษา 1 คน ตัวแทนประธานสโมสรนักศึกษา 1 คน และคณะกรรมการนักศึกษา 2 คน รวมผู้ให้ข้อมูลทั้งสิ้น 330 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบสัมภาษณ์กึ่งโครงสร้าง และแบบสอบถามมีค่าความเชื่อมั่นของแบบสอบถามเท่ากับ .994 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ประกอบด้วย ความถี่ ร้อยละ มัชฌิมเลขคณิต และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงสำรวจ และการสังเคราะห์เนื้อหา
ผลการวิจัยพบว่า 1) องค์ประกอบการบริหารกิจการนักศึกษาของมหาวิทยาลัยราชภัฏ มี 5 องค์ประกอบ คือ (1) การจัดระบบการประสานงานและการสื่อสาร (2) การส่งเสริมการบำเพ็ญตนเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (3) การเสริมสร้างความสามารถในการทำงานและการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน (4) การส่งเสริมการจัดกิจกรรมทั้งภายในและภายนอกสถานศึกษา และ (5) การบริการช่วยเหลือนักศึกษาด้านต่าง ๆ 2) แนวทางการบริหารกิจการนักศึกษาของมหาวิทยาลัยราชภัฏ ได้แนวทางการบริหารกิจการนักศึกษาของมหาวิทยาลัยราชภัฏทั้งสิ้น 10 แนวทาง ดังนี้ 1) จัดบริการปัจจัยพื้นฐานและสิ่งแวดล้อมภายในและนอกมหาวิทยาลัย 2) จัดบริการดูแลสวัสดิภาพของนักศึกษา 3) จัดบริการด้านอาชีพให้กับนักศึกษา 4) การส่งเสริมในการจัดกิจกรรมนักศึกษา 5) การพัฒนาการเรียนรู้ให้กับนักศึกษา 6) สร้างความโดดเด่นด้านอัตลักษณ์ของนักศึกษา 7) ส่งเสริมและพัฒนาระบบการบริหารจัดการในงานกิจการนักศึกษา 8) พัฒนาบุคลากรที่รับผิดชอบในงานกิจการนักศึกษา 9) ส่งเสริมด้านศิลปวัฒนธรรมไทย และ 10) สร้างเครือข่ายด้านกีฬาระหว่างสถาบัน