การปฏิบัติงานตามมาตรฐานวิชาชีพครูในเครือข่ายการศึกษาบ้านใหม่
คำสำคัญ:
การปฏิบัติงานตามมาตรฐานวิชาชีพครูบทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อทราบ 1) การปฏิบัติงานตามมาตรฐานวิชาชีพครูในเครือข่ายการศึกษาบ้านใหม่ และ 2) ผลการเปรียบเทียบความคิดเห็นต่อการปฏิบัติงานตามมาตรฐานวิชาชีพครูในเครือข่ายการศึกษาบ้านใหม่ เมื่อจำแนกตามตำแหน่งหน้าที่ ประชากรที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย ผู้อำนวยการสถานศึกษาและข้าราชการครู รวมทั้งสิ้น 48 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถามเกี่ยวกับการปฏิบัติงานตามมาตรฐานวิชาชีพครูของสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ ค่าความถี่ ร้อยละ ค่ามัชฌิมเลขคณิต ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และ การทดสอบค่าซี (z-test)
ผลการวิจัยพบว่า
1. การปฏิบัติงานตามมาตรฐานวิชาชีพครูในเครือข่ายการศึกษาบ้านใหม่ โดยภาพรวมและรายด้านพบว่าอยู่ในระดับมาก โดยเรียงลำดับค่ามัชฌิมเลขคณิตจากมากไปหาน้อย ดังนี้ ด้านปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ผู้เรียน ด้านมุ่งมั่นพัฒนาผู้เรียนให้เต็มศักยภาพ ด้านร่วมมือกับผู้อื่นในสถานศึกษาอย่างสร้างสรรค์ ด้านตัดสินใจปฏิบัติกิจกรรมต่าง ๆ โดยคำนึงถึงผลที่จะเกิดขึ้นกับผู้เรียน ด้านแสวงหา และใช้ข้อมูลข่าวสารในการพัฒนา ด้านจัดกิจกรรมการเรียนการสอนโดยเน้นผลถาวรที่เกิดแก่ผู้เรียน ด้านร่วมมือกับผู้อื่นในชุมชนอย่างสร้างสรรค์ ด้านพัฒนาแผนการสอนให้สามารถปฏิบัติให้เกิดผลจริง ด้านสร้างโอกาสให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ได้ทุกสถานการณ์ ด้านปฏิบัติกิจกรรมทางวิชาการเกี่ยวกับการพัฒนาวิชาชีพครูอยู่เสมอด้านพัฒนาสื่อการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพอยู่เสมอ และรายงานผลการพัฒนาคุณภาพของผู้เรียนได้อย่างมีระบบ
2. ผลการเปรียบเทียบความคิดเห็นต่อการปฏิบัติงานตามมาตรฐานวิชาชีพครูในเครือข่ายการศึกษาบ้านใหม่ เมื่อจำแนกตามตำแหน่งหน้าที่ พบว่าการปฏิบัติงานตามมาตรฐานวิชาชีพครูในเครือข่ายการศึกษาบ้านใหม่ โดยภาพรวมผู้บริหาร และข้าราชการครูมีความคิดเห็นแตกต่างกัน เมื่อพิจารณารายด้านพบว่าผู้บริหารและข้าราชการครู มีความคิดเห็นแตกต่างกันในด้านตัดสินใจปฏิบัติกิจกรรมต่างๆโดยคำนึงผลที่จะเกิดขึ้นกับผู้เรียน ด้านพัฒนาแผนการสอนให้สามารถปฏิบัติให้เกิดผลจริง ด้านพัฒนาสื่อการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพอยู่เสมอ ด้านจัดกิจกรรมการเรียนการสอนโดยเน้นผลถาวรที่เกิดแก่ผู้เรียน ด้านรายงานผลการพัฒนาคุณภาพของผู้เรียนได้อย่างมีระบบ ด้านปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ผู้เรียน ด้านร่วมมือกับผู้อื่นในสถานศึกษาอย่างสร้างสรรค์ และด้านสร้างโอกาสให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ได้ทุกสถานการณ์