ขวัญกำลังใจการทำงานของบุคลากรโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศิลปากร
คำสำคัญ:
-บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ทราบ (1) ระดับขวัญกำลังใจการทำงานบุคลากรของโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศิลปากร (2) ผลเปรียบเทียบขวัญกำลังใจการทำงานของบุคลากรโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศิลปากรเมื่อจำแนกตามสถานภาพตำแหน่งงาน และ อายุการปฏิบัติงาน (3) ทราบแนวทางการส่งเสริมขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงานของบุคลากรโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศิลปากร ตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาคือบุคลากรโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศิลปากร โดยใช้ตารางกำหนดขนาดตัวอย่างของ เครจซีและมอร์แกน(Krejcie and Morgan) ได้กลุ่มตัวอย่างจำนวนตัวอย่าง 56 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถามที่เกี่ยวกับขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงานของครู โดยใช้ทฤษฎีของ เบนท์เลย์และแรมเพล (Bentley and Rempel) สถิติใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลประกอบด้วย ความถี่ ร้อยละ ค่ามัชฌิมเลขคณิต ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบค่า t-test การวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (F-test) และสังเคราะห์เนื้อหา
ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้
- ระดับขวัญกำลังใจในการทำงานของบุคลากรโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศิลปากร พบว่าโดยภาพรวมอยู่ในระดับ มาก เมื่อพิจารณารายด้าน อยู่ในระดับมาก มี 6 ด้าน โดยเรียงลำดับค่ามัชฌิมเลขคณิตสูงสุดไปต่ำสุดดังนี้ แรงกดดันทางชุมชน ความพึงพอใจในงาน สถานภาพบุคลากร การสนับสนุนการศึกษาของชุมชน เงินเดือน สิ่งอำนวยความสะดวกและการบริการของโรงเรียน และระดับปานกลาง มี 4 ด้าน โดยเรียงลำดับค่ามัชฌิมเลขคณิตสูงสุดไปต่ำสุดดังนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างบุคลากร ความสัมพันธ์ระหว่างบุคลากรและผู้บริหาร ปริมาณงาน และหลักสูตร
- ผลการเปรียบเทียบระดับขวัญกำลังใจของบุคลากรโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อจำแนกตามสถานภาพตำแหน่งงาน และอายุการปฏิบัติงาน ทั้ง 2 ตัวแปรไม่แตกต่างกัน
- แนวทางการส่งเสริมขวัญกำลังใจของบุคลากรโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศิลปากร 1) ส่งเสริมกิจกรรมเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างบุคลากร 2) ส่งเสริมขวัญกำลังใจการทำงานอย่างยุติธรรม ชัดเจน และสม่ำเสมอ 3) มีการปรับปรุงปัจจัยสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลต่อขวัญกำลังใจการทำงานของบุคลากร