การพัฒนาแบบวัดความยับยั้งชั่งใจและคุณสมบัติในการวัดทางจิตวิทยา: การศึกษาระยะเริ่มต้น
คำสำคัญ:
ความยับยั้งชั่งใจ, แบบวัดความยับยั้งชั่งใจ, คุณสมบัติในการวัดทางจิตวิทยาบทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาแบบวัดความยับยั้งชั่งใจ ในประเด็นของความตรง และความน่าเชื่อถือ แบบวัดถูกสร้างบนพื้นฐานของแนวคิดเกี่ยวกับความยับยั้งชั่งใจที่มีความหมายถึง “กระบวนการของพลังความมุ่งมั่นภายในจิตใจ ที่แสดงออกโดยการอดทนอดกลั้น ต่อต้าน หรือชะลอแรงกระตุ้นที่ผลักดันให้แสดงพฤติกรรมเพื่อบรรลุความพึงพอใจในทันทีทันใด อันเป็นผลที่เกิดจากการคิดไตร่ตรอง และความคาดหวังถึงผลลัพธ์ที่มีคุณค่ามากกว่าในอนาคต” เก็บข้อมูลจากผู้ร่วมวิจัยจำนวน 310 คน ที่เป็นนักศึกษาระดับปริญญาตรี มหาวิทยาลัยรามคำแหง (ชาย 61 คน หญิง 244 คน เพศทางเลือก 4 คน อายุเฉลี่ย 26.43 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 7.73) ใช้การวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงสำรวจและวิธีการวิเคราะห์องค์ประกอบหลักเพื่อสกัดองค์ประกอบของแบบวัดความยับยั้งชั่งใจ ใช้การวิเคราะห์ความตรงเชิงเนื้อหา และการวิเคราะห์ความสอดคล้องภายในเพื่อบ่งชี้คุณสมบัติในการวัดทางจิตวิทยา
ความตรงเชิงเนื้อหาผ่านการวิเคราะห์ดัชนีความสอดคล้องมีค่าอยู่ระหว่าง 0.6-1.0 ส่วนผลการวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงสำรวจพบว่าแบบวัดความยับยั้งชั่งใจมีจำนวน 9 องค์ประกอบ จากจำนวนคำถาม 36 ข้อ ซึ่งโครงสร้างทั้ง 9 องค์ประกอบประกอบไปด้วย (1) พลังความมุ่งมั่น, (2) ความสามารถรอได้, (3) ความอดทนต่อการอยากรับประทานอาหาร, (4) ความอดทนต่อสิ่งยั่วยุด้านเพศ, (5) การไม่คำนึงถึงผลที่ตามมา, (6) ความอดทนอดกลั้นเพื่อผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา, (7) ความอดทนอดกลั้นด้านการเงิน, (8) ความอดทนอดกลั้นเพื่อความสัมพันธ์ทางสังคม, และ (9) อคติส่วนบุคคล ซึ่งองค์ประกอบทั้งหมดสามารถร่วมกันอธิบายความแปรปรวนสะสมได้ถึงร้อยละ 59.562 แบบวัดความยับยั้งชั่งใจมีความน่าเชื่อถือเชิงความสอดคล้องภายในในเกณฑ์ดี (แอลฟ่าครอนบาครวมทั้งฉบับคือ .835 และในรายด้านอยู่ระหว่าง .564-.841) ดังนั้นจึงสรุปได้ว่าแบบวัดความยับยั้งชั่งใจสามารถใช้ประเมินความยับยั้งชั่งใจได้ รวมทั้งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการวิจัยที่เกี่ยวข้องต่อไปในอนาคต