ปัจจัยการเสริมสร้างพลังอำนาจครูในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน
คำสำคัญ:
ปัจจัยการเสริมสร้างพลังอำนาจครู/สถานศึกษาขั้นพื้นฐานบทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ทราบปัจจัยการเสริมสร้างพลังอำนาจครูในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน 2) ทราบผลการยืนยันปัจจัยการเสริมสร้างพลังอำนาจครูในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน วิธีการดำเนินการวิจัยประกอบด้วย 3 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนที่ 1 วิเคราะห์ตัวแปรการเสริมสร้างพลังอำนาจครูในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จากเอกสาร วรรณกรรม ทฤษฏี งานวิจัยที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ และการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญและผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 9 คน โดยการวิเคราะห์เนื้อหา ขั้นตอนที่ 2 การวิเคราะห์ปัจจัยใช้วิธีวิจัยเชิงปริมาณ เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูลได้แก่ แบบสอบถามความคิดเห็น ผู้ให้ข้อมูลที่ใช้ในการวิจัย คือ ผู้อำนวยการโรงเรียน รองผู้อำนวยการโรงเรียน/หัวหน้าฝ่ายวิชาการ และหัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้ โรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่ประถมศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน รวมผู้ให้ข้อมูล 400 คน สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าความถี่ ร้อยละ ค่ามัชฌิมเลขคณิต ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงสำรวจ ขั้นตอนที่ 3 ยืนยันปัจจัยการเสริมสร้างพลังอำนาจครูในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานจากผู้เชี่ยวชาญและผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 5 คน ใช้การวิเคราะห์ด้วยค่าความถี่ ร้อยละ และการวิเคราะห์เนื้อหา
ผลการวิจัยพบว่า
- ปัจจัยการเสริมสร้างพลังอำนาจครูในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน มี 8 ปัจจัย ดังนี้ 1) การพัฒนาคุณลักษณะผู้บริหาร 2) การจัดการองค์กร 3) การสร้างคณะทำงาน 4) การพัฒนาคุณลักษณะครู 5) การสร้างแรงจูงใจ 6) การประเมินผลการปฏิบัติงาน 7) การพัฒนาประสิทธิภาพการทำงาน และ 8) การมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
- ผลการยืนยันปัจจัยการเสริมสร้างพลังอำนาจครูในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน พบว่า ปัจจัยการเสริมสร้างพลังอำนาจครูในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานดังกล่าว มีความถูกต้อง เหมาะสม เป็นไปได้ เป็นประโยชน์