กระบวนการนิเทศการศึกษาของโรงเรียนในกลุ่มตำบลยางหัก อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี

ผู้แต่ง

  • อนงค์ จันทร์หอม ภาควิชาการบริหารการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์
  • สำเริง อ่อนสัมพันธุ์ ภาควิชาการบริหารการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์

คำสำคัญ:

กระบวนการนิเทศการศึกษา, โรงเรียนในกลุ่มตำบลยางหัก อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี

บทคัดย่อ

            การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ทราบกระบวนการนิเทศการศึกษาของโรงเรียนในกลุ่มตำบลยางหัก อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี  และ 2) ทราบแนวทางการพัฒนากระบวนการนิเทศการศึกษาของโรงเรียนในกลุ่มตำบลยางหัก อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี ประชากรในการศึกษาครั้งนี้ ได้แก่ ข้าราชการครูของโรงเรียนในกลุ่มตำบลยางหัก อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี จำนวน 36 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย เป็นแบบสอบถามเกี่ยวกับกระบวนการนิเทศของโรงเรียนตามแนวคิดของแฮริส (Harris) สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ ความถี่ ร้อยละ มัชฌิมเลขคณิต ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการวิเคราะห์เนื้อหา

               ผลการวิจัยพบว่า

  1. กระบวนการนิเทศการศึกษาของโรงเรียนในกลุ่มตำบลยางหัก อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี โดยภาพรวมและรายด้านอยู่ในระดับมาก โดยเรียงลำดับค่ามัชฌิมเลขคณิตจากมากไปน้อย ดังนี้ การจัดสรรทรัพยากร การประสานงาน การอำนวยการ การจัดลำดับความสำคัญของงาน การออกแบบวิธีการทำงาน การประเมินสภาพงาน
  2. แนวทางการพัฒนากระบวนการนิเทศการศึกษาของโรงเรียนในกลุ่มตำบลยางหัก อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี คือ 1) ควรมีการประเมินผลงานจากผู้ที่ได้รับมอบหมายและการจัดกระบวนการเรียนการสอน รวมทั้งทำการนิเทศการศึกษาอย่างต่อเนื่อง 2) สำรวจความต้องการของครูในการเลือกวิธีการปฏิบัติเพื่อให้ตรงกับความต้องการและตรงเป้าหมายของการทำงานที่กำหนดไว้ในโครงการ 3) ควรจัดระบบงานที่มีความสำคัญอย่างเหมาะสม สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง 4) ควรประชุมคณะครูและบุคลากรทางการศึกษาเพื่อสำรวจความต้องการและความจำเป็นการใช้ทรัพยากรในแต่ละโครงการและสรุปเป็นมติของโรงเรียน และควรมีการจัดสรรทรัพยากรให้แก่บุคลากรหรือโครงการตามความต้องการที่กำหนดไว้อย่างเหมาะสม 5) ควรมีการประสานงานระหว่างผู้รับผิดชอบและผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ให้เกิดความเข้าใจในการร่วมมือกันปฏิบัติงานให้สอดคล้องกับเวลา และกิจกรรมที่ต้องการให้บรรลุวัตถุประสงค์ 6) ควรมีการปรึกษาหารือ ในการปฏิบัติงาน เพื่อสร้างแนวทางปฏิบัติตามทางเลือก แนวทางการแก้ปัญหา และพัฒนาการปฏิบัติงานร่วมกัน

References

-

Additional Files

เผยแพร่แล้ว

06/30/2019