การควบคุมภายในของโรงเรียนราชโบริกานุเคราะห์ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 8
คำสำคัญ:
การควบคุมภายในบทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อทราบ 1) การควบคุมภายในของโรงเรียนราชโบริกานุเคราะห์ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเขต 8-2) แนวทางการพัฒนาการควบคุมภายในของโรงเรียนราชโบริกานุเคราะห์ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเขต 8 ประชากรที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ คือ บุคลากรโรงเรียนราชโบริกานุเคราะห์ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเขต 8 จำนวน 178 คน จำแนกเป็น ผู้บริหาร จำนวน 5 คน หัวหน้างาน จำนวน 68 คน และครู จำนวน 105 คน เครื่องมือในการวิจัยครั้งนี้เป็นแบบสอบถาม สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลได้แก่ ค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่ามัชฌิมเลขคณิต ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการวิเคราะห์เนื้อหา
ผลการวิจัยพบว่า
- การควบคุมภายในของโรงเรียนราชโบริกานุเคราะห์ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเขต 8 โดยภาพรวมและรายด้านอยู่ในระดับมาก โดยเรียงค่ามัชฌิมเลขคณิตจากระดับมากไปหาระดับน้อยได้ ดังนี้ ด้านสภาพแวดล้อมของการควบคุม ด้านการติดตามและประเมินผล ด้านกิจกรรมการควบคุม ด้านสารสนเทศและการสื่อสาร และด้านการประเมินความเสี่ยง
- แนวทางการพัฒนาการควบคุมภายในของโรงเรียนราชโบริกานุเคราะห์ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเขต 8 มีแนวทางการพัฒนาการควบคุมภายในทั้ง 5 ด้าน ดังนี้ 1) ด้านสภาพแวดล้อมของการควบคุม ควรมีการกำหนดโครงสร้าง นโยบาย กลยุทธ์และแนวทางการปฏิบัติงาน ผู้บริหารมีการแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบตามระดับความรู้ความสามารถของแต่บุคคล และจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับบริบทของโรงเรียน 2) ด้านการประเมินความเสี่ยง ควรมีการสร้างความเข้าใจกับบุคลากรเกี่ยวกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นและอาจส่งผลกระทบต่อผลสำเร็จของงาน ผู้บริหารและบุคลากรจะต้องมีการวิเคราะห์ปัจจัยเสี่ยงร่วมกัน พร้อมทั้งหาแนวทางแก้ไข 3) ด้านกิจกรรมการควบคุม ผู้บริหารและบุคลากรควรดำเนินการตามนโยบายที่ได้วางไว้ โดยสามารถตรวจสอบการปฏิบัติงานได้ทุกขั้นตอน มีการจัดทำคู่มือการดำเนินการในด้านต่างๆ และมีการสอบทานกันภายในองค์กร 4) ด้านสารสนเทศและการสื่อสาร ผู้บริหารจัดระบบสารสนเทศให้เพียงพอต่อความต้องการของบุคลากร จัดตั้งหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง มีช่องทางการสื่อสารระหว่างผู้บริหารและบุคลากร และมีระบบการรักษาความปลอดภัยที่ดี 5) ด้านการติดตามและประเมินผล มีกระบวนการหรือวิธีการติดตามผลการดำเนินงานที่เป็นที่ยอมรับ มีการติดตามและประเมินผลทุกระยะของการดำเนินงาน และมีการสรุปรายงานผลการดำเนินงานเสนอผู้บริหารเป็นประจำ