การยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษาด้วยการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐานตามหลักอริยสัจสี่
Main Article Content
บทคัดย่อ
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 54 ได้กำหนดให้รัฐมีหน้าที่ดําเนินการ กํากับ ส่งเสริม และสนับสนุนให้การจัดการศึกษามีคุณภาพและได้มาตรฐานสากล และหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 กำหนดให้มีการประเมินระดับชาติด้วยการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ซึ่งเป็นการทดสอบความรู้ความคิดรวบยอดตามมาตรฐานการเรียนรู้ในหลักสูตรฯ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มัธยมศึกษาปีที่ 3 และมัธยมศึกษาปีที่ 6 ทุกคน เพื่อใช้วางแผนยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษาและใช้เป็นข้อมูลสนับสนุนการตัดสินใจในระดับนโยบายของประเทศ ดังนั้น การยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษาโดยผล O-NET จึงเป็นพันธกิจสำคัญของครู ผู้บริหาร และผู้เกี่ยวข้อง ที่ต้องร่วมมือกันดำเนินการ
อริยสัจสี่ ความจริงอันประเสริฐ 4 ประการ เป็นคำสอนพื้นฐานขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่เป็นคำสอนหลักของพุทธศาสนา ครอบคลุมคำสอนสำหรับพุทธศาสนิกชน อีกทั้งยังสามารถประยุกต์ใช้อริยสัจสี่ ในการประเมินระดับชาติด้วยผล O-NET ได้ดังนี้
1) ทุกข์ เป็นผลจากการจัดการศึกษาที่ได้ผล O-NET ไม่มีพัฒนาการ และหรือต่ำกว่าโรงเรียนที่มีบริบทเดียวกัน และหรือต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด โดยวิเคราะห์จากรายงาน O-NET ของนักเรียนรายบุคคล ของสถานศึกษา (โดยเฉพาะรายงานฉบับที่ 1 2 3 5) ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ของสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด และสำนักงานศึกษาธิการภาค ตามลำดับ
2) สมุทัย เป็นสาเหตุที่สถานศึกษาสามารถปรับปรุงและพัฒนาได้ภายในปีการศึกษานั้น ๆ ได้แก่ ปัจจัยนำเข้าที่เน้นด้านจิตพิสัย และกระบวนการที่เน้นทักษะพิสัยในด้านพฤติกรรมการเรียน การจัดการเรียนรู้ และการบริหารที่ยังไม่เต็มศักยภาพ และหรือยังมีประสิทธิภาพไม่มากเท่าที่ควร โดยเฉพาะการนำผลการทดสอบรายตัวชี้วัดในระดับชั้นเรียน (ปพ.5) และระดับชาติ (O-NET) ไปใช้วางแผนการปรับปรุงและพัฒนาการเรียน การจัดการเรียนรู้ และการบริหาร
3) นิโรธ เป็นผลจากการจัดการศึกษาที่ได้ผล O-NET ในปีการศึกษาถัดไป ที่มีพัฒนาการ และหรือสูงกว่าโรงเรียนในบริบทเดียวกัน และหรือเท่ากับหรือสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด โดยใช้การบริหารและการจัดการเรียนรู้แบบมืออาชีพ ในการปฏิบัติงานตามปกติควบคู่กับการวิจัย โดยไม่เพิ่มภาระให้กับผู้บริหาร ครู และนักเรียน
4) มรรค เป็นการบริหารและการจัดการเรียนรู้แบบมืออาชีพ ที่เน้นวงจรคุณภาพ (PDCA Cycle) ตามกระบวนการทางการศึกษา ประกอบด้วย 3 องค์ประกอบที่เชื่อมโยงสัมพันธ์กันดังนี้
(1) กำหนดวัตถุประสงค์ของการจัดการศึกษา ตามคุณภาพผู้เรียนที่วิเคราะห์จากหลักสูตรฯ และมุ่งให้เกิดทักษะในศตวรรษที่ 21 รวมทั้งนำจุดอ่อน (O-NET ต่ำ) และจุดแข็ง (O-NET สูง) ในสาระ มาตรฐานการเรียนรู้ ตัวชี้วัด ที่ได้จากการประเมินตนเองในปีที่ผ่านมา แล้วนำไปวางแผนการบริหาร แผนการจัดการเรียนรู้ แผนการวัดและประเมิน และแผนวิจัย
(2) กระบวนการจัดการเรียนรู้ ตามแผน ให้บรรลุวัตถุประสงค์ ที่เน้นการลดจุดอ่อน และเพิ่มจุดแข็งของผลการจัดการศึกษาในปีที่ผ่านมา โดยใช้การเรียนรู้เชิงรุก ด้วยอิทธิบาท 4 (ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา) และหัวใจนักปราชญ์
(3) การวัดและประเมินผลการจัดการเรียนรู้ในชั้นเรียน ให้ถักทอเชื่อมโยงกับการทดสอบและประเมินระดับชาติ ที่มุ่งวัดคุณภาพผู้เรียนที่ระบุในตัวชี้วัดและมาตรฐานการเรียนรู้ในหลักสูตรเช่นกัน โดยเฉพาะใช้ผังแบบทดสอบ รูปแบบข้อสอบ ตัวอย่างข้อสอบ และกระดาษคำตอบของ O-NET มาประยุกต์ใช้ในชั้นเรียน ในการสอบปลายภาค/ปี เป็นคะแนนรายงานใน ปพ.5 ด้วย รวมทั้งประยุกต์ใช้วิธีการตรวจรักษาผู้ป่วยทางการแพทย์ที่บูรณาการการประเมินเพื่อจัดตำแหน่ง การประเมินวินิจฉัย การประเมินตามสภาพจริง การประเมินความก้าวหน้า และการประเมินสรุปผลรวม
Article Details
References
ชยุตม์ ภิรมย์สมบัติ และคณะ. (2560). การศึกษาความสัมพันธ์ของผลการทดสอบระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) 2555 และ 2558 กับการสอบ PISA ปี 2012 และ 2015. กรุงเทพฯ: สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน).
ทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน), สถาบัน. (2555). มาตรฐานการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ. กรุงเทพฯ: สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน).
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560. (2560, 6 เมษายน). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 134 ตอนที่ 40 ก. หน้า 14.
ศึกษาธิการ, กระทรวง. สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน. (2553). แนวปฏิบัติการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย.
ศึกษาธิการ, กระทรวง. สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ. (2559). แผนพัฒนาการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564). กรุงเทพฯ: สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงศึกษาธิการ.
ศึกษาธิการ, กระทรวง. สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา. (2560). แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2560-2579. กรุงเทพฯ: พริกหวานกราฟฟิค.
สังวรณ์ งัดกระโทก และคณะ. (2559). การวินิจฉัยผลการทดสอบระดับชาติและข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการใช้ผลการทดสอบระดับชาติเพื่อพัฒนาผู้เรียน. กรุงเทพฯ: สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน).
สัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์. (2558). การนำผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) เป็นกลไกในการพัฒนาการเรียนการสอนและการวัดประเมินผลการเรียนรู้ เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนแบบครูมืออาชีพ: หลักอริยสัจ 4. กรุงเทพฯ: สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน). (อัดสำเนา).
สัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์. (2559). เตรียมพร้อมสอบ O-NET ป.6 วิชาภาษาไทย รูปแบบข้อสอบอัตนัย (20%). NIETS NEWS, 2559 (ฉบับที่ 60 กันยายน-ตุลาคม).
สัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์. (2560). การพัฒนาทักษะการจัดทำข้อสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนแบบปรนัย. กรุงเทพฯ: สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน). (อัดสำเนา).
สัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์. (2560). เตรียมพร้อมสอบ O-NET ป.6 วิชาภาษาไทย (รูปแบบข้อสอบอัตนัย) ปีการศึกษา 2560. NIETS NEWS, 2560 (ฉบับที่ 66 ตุลาคม-พฤศจิกายน).
สัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์. (2561). เตรียมพร้อมสอบ O-NET ป.6 วิชาภาษาไทย รูปแบบข้อสอบอัตนัย ปีการศึกษา 2560. NIETS NEWS, 2561 (ฉบับที่ 67 ธันวาคม-มกราคม).
สัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์. [ม.ป.ป.]. O-NET กับการปฏิรูปการศึกษา [แผ่นพับ]. กรุงเทพฯ: สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน).
สัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์ และคณะ. (2558). การนำผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET: Ordinary National Educational Test) ไปสู่การพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน. กรุงเทพฯ: สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน).
สัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์ และคณะ. [ม.ป.ป.]. ทักษะด้านการวัดและประเมินผลการเรียนรู้: ทฤษฎีสู่การปฏิบัติ. กรุงเทพฯ: สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน). (อัดสำเนา).
Pitiyanuwat, S., & Phanphruk, S. (Eds). (2013). National Educational Testing and Assessment in ASEAN: Share and Learn. Proceedings of International Symposium on National Educational Testing and Assessment in ASEAN: Share and Learn, Bangkok, 3-6 September 2013. Bangkok: Prigwhan Graphic.