การพัฒนาแบบวัดจิตแห่งความเคารพและจิตแห่งจริยธรรมตามแนวคิดของการ์ดเนอร์ สำหรับนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น
Main Article Content
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 4 ประการ คือ 1) เพื่อพัฒนาแบบวัดจิตแห่งความเคารพและจิตแห่งจริยธรรม 2) เพื่อตรวจสอบคุณภาพของแบบวัดจิตแห่งความเคารพและจิตแห่งจริยธรรม 3) เพื่อสร้างเกณฑ์ปกติของแบบวัดจิตแห่งความเคารพและจิตแห่งจริยธรรมของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น และ 4) เพื่อประเมินจิตแห่งความเคารพและจิตแห่งจริยธรรมของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย คือ นักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ จำนวน 1,990 คน ที่ได้จากการสุ่มแบบหลายขั้นตอน วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรม IRTPRO 3.0 และ Mplus 7.11 ผลการวิจัยพบว่า แบบวัดจิตแห่งความเคารพและจิตแห่งจริยธรรมที่พัฒนาขึ้นประกอบด้วย 2 องค์ประกอบหลัก 7 องค์ประกอบย่อย ได้แก่ 1) จิตแห่งความเคารพ ประกอบด้วย การทำงานร่วมกัน การเคารพสิทธิผู้อื่น เมตตา และการคิดเชิงบวก 2) จิตแห่งจริยธรรม ประกอบด้วย จิตสาธารณะ วินัยในตนเอง และความรับผิดชอบ เป็นแบบวัดเชิงสถานการณ์รูปแบบ มาตรประมาณค่า 5 ระดับ มีค่าความเที่ยงสัมประสิทธิ์แอลฟาครอนบาคเท่ากับ 0.934 มีความตรงเชิงโครงสร้างแบบพหุมิติ โดยมีความแตกต่างของค่าไคสแควร์เมื่อเทียบกับโมเดลแบบเอกมิติ เท่ากับ 921.937 (df =12, p = .000) มีค่าพารามิเตอร์ความยากและอำนาจจำแนกแบบพหุมิติเป็นไปตามเกณฑ์ คือ มีค่า Threshold แบบเรียงลำดับ ( ) และค่าอำนาจจำแนกแบบพหุมิติอยู่ระหว่าง 0.38 – 0.76 คะแนนเกณฑ์ปกติวิสัยระดับชาติของแบบวัดมีช่วงคะแนนปกติที่อยู่ในช่วงระหว่าง T18 - T85 และนักเรียนมีจิตแห่งความเคารพและจิตแห่งจริยธรรมอยู่ในระดับสูง ค่อนข้างสูง ค่อนข้างต่ำ และต่ำ โดยแต่ละระดับมีจำนวน 20.8%, 23.6%, 26.1% และ 29.5% ตามลำดับ