การพัฒนาชุดเครื่องมือวัดทักษะชีวิตของนักเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน

Main Article Content

Siridej Sujiva
Wanida Simpol
Parinyaporn Thanaboonpuang
Phoom Praraksa
Thanyasinee Laosum
Sukolrat Ingchatcharoen

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) พัฒนาชุดเครื่องมือวัดทักษะชีวิต และ 2) ตรวจสอบคุณภาพของชุดเครื่องมือวัดทักษะชีวิตที่พัฒนาขึ้น ซึ่งเป็นการวิจัยและพัฒนา แบ่งออกเป็น 4 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 การสังเคราะห์องค์ประกอบทักษะชีวิต ระยะที่ 2 การสร้างชุดเครื่องมือวัดทักษะชีวิต ระยะที่ 3 การตรวจสอบคุณภาพชุดเครื่องมือวัดทักษะชีวิตที่พัฒนาขึ้น และระยะที่ 4 การพัฒนาชุดเครื่องมือวัดทักษะชีวิตแบบออนไลน์ ตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย คือ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มัธยมศึกษาปีที่ 3 และมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่ศึกษาในโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน รวมทั้งสิ้น 4,497 คน การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพใช้วิธีการวิเคราะห์เนื้อหา และการวิเคราะห์คุณภาพข้อสอบประกอบด้วย ค่าความยาก (p) ค่าอำนาจจำแนก (r) และค่าความเที่ยงตามทฤษฎีการทดสอบแบบดั้งเดิม (CTT) ค่าพารามิเตอร์อำนาจจำแนก (a) พารามิเตอร์ความยาก (b) และความเที่ยงแบบพหุมิติ ตามทฤษฎีการตอบสนองข้อสอบแบบพหุมิติ (MIRT) โดยใช้โปรแกรม IRTPRO version 3.0 รวมทั้งความตรงเชิงโครงสร้างจากการวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงยืนยัน (CFA) โดยใช้โปรแกรม Mplus version 7


          ผลการวิจัยสรุปว่า


  1. ผลการพัฒนาชุดเครื่องมือวัดทักษะชีวิตของนักเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ประกอบด้วย 1) ผลการสังเคราะห์องค์ประกอบทักษะชีวิตของนักเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ประกอบด้วย 3 ด้าน คือ 1.1) ทักษะชีวิตด้านความพอเพียง 1.2) ทักษะชีวิตด้านสารสนเทศ สื่อ และเทคโนโลยี และ 1.3) ทักษะชีวิตด้านการดำรงชีวิตและการทำงาน 2) เครื่องมือวัดทักษะชีวิตของนักเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานที่พัฒนาขึ้นแยกตามระดับชั้นเรียน ได้แก่ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 แยกตามองค์ประกอบของทักษะชีวิต ดังนี้ 2.1) ทักษะชีวิตด้านความพอเพียง เป็นการวัดแบบลำดับขั้นของพฤติกรรม แบ่งเป็น 5 ระดับ 4 ด้าน คือ ด้านวัตถุ สังคม วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม รูปแบบการวัดเป็นแบบบังคับเลือก ตอบใช่ ไม่ใช่ ให้คะแนนแบบ 0,1 จำนวนระดับชั้นละ 56 ข้อ 2.2) ทักษะชีวิตด้านสารสนเทศ สื่อ และเทคโนโลยี และทักษะชีวิตด้านการดำรงชีวิตและการทำงาน มีรูปแบบการวัดที่เป็นการตัดสินใจเชิงสถานการณ์ นำเสนอสถานการณ์ด้วยคลิปวิดีโอ แล้วเลือกคำตอบ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มี 4 ตัวเลือก และระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 มี 5 ตัวเลือก ให้คะแนนแบบ 0,1 โดย แบบวัดทักษะชีวิตด้านสารสนเทศ สื่อ และเทคโนโลยี มีจำนวน 12 ข้อ ด้านการดำรงชีวิตและการทำงาน มีจำนวน 22 ข้อ และ 3) ชุดเครื่องมือวัดทักษะชีวิตของนักเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานแบบออนไลน์ที่พัฒนาขึ้นมีความสามารถ ดังนี้ 3.1) ระบบการสอบออนไลน์และการรายงานผลสอบสำหรับผู้สอบ 3.2) ระบบการสอบออนไลน์สำหรับผู้ดูแลระบบ 3.3) ระบบวิเคราะห์ความยากและอำนาจจำแนกของข้อสอบ สำหรับผู้ดูแลระบบ และ 3.4) ระบบประเมินความพึงพอใจของผู้ใช้โปรแกรม

  2. ผลการตรวจสอบคุณภาพชุดเครื่องมือวัดทักษะชีวิตของนักเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตามทฤษฎีการทดสอบดั้งเดิมพบว่า ข้อคำถามส่วนใหญ่มีค่าอำนาจจำแนก (r) อยู่ในระดับพอใช้ ค่าความยาก (p) ปานกลาง และ มีค่าความเที่ยงตั้งแต่ .758 ขึ้นไป ส่วนการตรวจสอบคุณภาพเครื่องมือตามทฤษฎีการตอบสนองข้อสอบแบบพหุมิติ พบว่า โมเดลการวัดทักษะชีวิตที่พัฒนาขึ้นทั้ง 3 ระดับชั้น มีความเป็นพหุมิติ ทั้งนี้ ผลการตรวจสอบคุณภาพเครื่องมือรายข้อ พบว่า ข้อคำถามส่วนใหญ่มีค่าพารามิเตอร์อำนาจจำแนกและค่าพารามิเตอร์ความยากอยู่ในระดับปานกลาง และการวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงยืนยัน พบว่า โมเดลการวัดทักษะชีวิตของนักเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานทุกโมเดลมีความตรงเชิงโครงสร้าง

Article Details

บท
บทความวิจัย (Research Article)