การเปรียบเทียบคุณภาพแบบวัดฉบับสั้นของแบบวัดความกลัวในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ของครูสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานที่คัดเลือกด้วยวิธีต่างกัน
Main Article Content
บทคัดย่อ
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบคุณภาพแบบวัดฉบับสั้นของแบบวัดความกลัวในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนของครู สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานที่คัดเลือกด้วยวิธีต่างกัน กลุ่มตัวอย่างคือครูผู้สอนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานในเขตภาคเหนือตอนล่าง จำนวน 1,000 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบวัดความกลัวในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนของครู สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน วิเคราะห์ข้อมูลโดยวิเคราะห์ความเที่ยงแบบความสอดคล้องภายในด้วยวิธีสัมประสิทธิ์แอลฟาของครอนบาค ความตรงเชิงโครงสร้างด้วยการวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงยืนยันอันดับที่สอง และวิเคราะห์ค่าฟังก์ชันสารสนเทศของแบบวัด ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้
- แบบวัดฉบับสั้นที่คัดเลือกข้อคำถาม 3 วิธี คือ พิจารณาจากน้ำหนักองค์ประกอบ ดัชนีจำแนกรายข้อตามทฤษฎีการตอบสนองข้อสอบ (IRT) โดยพิจารณาจากค่าพารามิเตอร์ a และดัชนีจำแนกรายข้อตามทฤษฎีการทดสอบแบบดั้งเดิม (CTT) โดยพิจารณาจากค่า corrected item-total correlation แต่ละวิธีการคัดเลือกมีความยาว 3 รูปแบบ ได้แก่ 16, 24 และ 32 ข้อ ได้แบบวัดฉบับสั้น 9 ฉบับ มีค่าความเที่ยงอยู่ระหว่าง 0.922– 0.968 โมเดลการวัดมีความสอดคล้องกับข้อมูลเชิงประจักษ์ดี มีค่าไค-สแควร์สัมพัทธ์ (x2/df) อยู่ระหว่าง 2.085 – 2.328 และมีค่าฟังก์ชันสารสนเทศของแบบวัดสูงสุดที่ระดับความสามารถ 1.00
- ผลการเปรียบเทียบคุณภาพ สำหรับแบบวัดฉบับสั้นที่มีความยาว 16 ข้อ พบว่า แบบวัดฉบับสั้นที่คัดเลือกข้อคำถามด้วยวิธีพิจารณาค่าพารามิเตอร์ a และ ค่า corrected item-total correlation มีคุณภาพดีที่สุด สำหรับแบบวัดที่มีความยาว 24 ข้อ พบว่า แบบวัดฉบับสั้นที่คัดเลือกข้อคำถามด้วยวิธีพิจารณาค่า corrected item-total correlation มีคุณภาพดีที่สุด และสำหรับแบบวัดที่มีความยาว 32 ข้อ พบว่า แบบวัดฉบับสั้นที่คัดเลือกข้อคำถามด้วยวิธีพิจารณาค่ corrected item-total correlation มีคุณภาพดีที่สุด