การพัฒนาครูเพื่อส่งเสริมสมรรถนะด้านการพัฒนาและประเมินความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียน ระดับประถมศึกษาด้วยภูมิปัญญาของศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (วิจิตรศิลป์)

Main Article Content

Nalinee Na Nakorn

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อพัฒนาชุดฝึกอบรมครูในการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์และการประเมินผลเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียนระดับประถมศึกษาด้วยภูมิปัญญาของศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (วิจิตรศิลป์)  2) เพื่อพัฒนาความรู้ความสามารถครูในการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์และการประเมินผลเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียนระดับประถมศึกษาด้วยภูมิปัญญาของศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (วิจิตรศิลป์) 3) เพื่อพัฒนาความสามารถครูในการจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาความคิดสร้างสรรค์และการประเมินผลเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ในชั้นเรียนโดยการติดตามผลและให้คำแนะนำ และ 4) เพื่อประเมินประสิทธิผลของการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียนระดับประถมศึกษาด้วยภูมิปัญญาของศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (วิจิตรศิลป์) กลุ่มตัวอย่างในการวิจัยมี 2 กลุ่ม ได้แก่ ครูที่สอนสาระทัศนศิลป์ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึง 6 ไม่ตรงวุฒิ ได้มาโดยการอาสาสมัคร ชั้นละ 1 คน รวม  6 คน และนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึง 6 จำนวน 309 คน เครื่องมือการวิจัยมี  
3 ประเภท คือ 1)  เครื่องมือที่ใช้ในการฝึกอบรมได้แก่ แบบฝึกการออกแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้และ
การประเมินความคิดสร้างสรรค์ 2) เครื่องมือที่ใช้ในการติดตามผลการฝึกอบรม ได้แก่ แบบสังเกตการสอนของครูและแบบสัมภาษณ์ครูเกี่ยวกับการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียน และ 3) เครื่องมือที่ใช้ในการวัดประสิทธิผลของการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียน ได้แก่ แบบสอบถามกิจกรรม “นวการลากและระบาย” และเกณฑ์การให้คะแนนผลงาน วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติการทดสอบแมน วิทนีย์ และ
การวิเคราะห์เนื้อหา


ผลการวิจัยพบว่า 1) ชุดฝึกอบรมครูในการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์และการประเมินเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียนระดับประถมศึกษาด้วยภูมิปัญญาของศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (วิจิตรศิลป์)  เป็นชุดฝึกอบรมรายบุคคลแบบสื่อประสมที่ประกอบด้วยสื่อสิ่งพิมพ์ภาคทฤษฎีและการอบรมฝึกปฏิบัติกิจกรรม “นวการลากและระบาย”  มีความตรงเชิงเนื้อหา 2) ครูสามารถวิเคราะห์สภาพการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียน จัดทำแนวทางการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ “นวการลากและระบาย” ตามมาตรฐาน  ตัวชี้วัด  และออกแบบการประเมินเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียนได้ 3) ครูสามารถนำคำอธิบายเกณฑ์การให้คะแนนไปใช้ในการปรับปรุงกระบวนการคิดสร้างสรรค์ของนักเรียน ใช้ผลประเมินเพื่อปรับวิธีจัดกิจกรรมการเรียนรู้ของครู  และสามารถใช้เกณฑ์การให้คะแนนที่สร้างขึ้นได้สอดคล้องกับผู้เชี่ยวชาญ ร้อยละ 95  และ 4) คะแนนความก้าวหน้าด้านความคิดสร้างสรรค์ของกลุ่มควบคุมและกลุ่มทดลองในทุกระดับชั้น แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .01

Article Details

บท
บทความวิจัย (Research Article)