การพัฒนารูปแบบองค์การแห่งการเรียนรู้ของมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย
Main Article Content
บทคัดย่อ
การพัฒนารูปแบบองค์การแห่งการเรียนรู้ของมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาองค์ประกอบของรูปแบบองค์การแห่งการเรียนรู้ของมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย วิทยาเขตอีสาน 2) ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างวินัย 5 ประการ กับความพร้อมของมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย วิทยาเขตอีสาน สู่องค์กรแห่งการเรียนรู้ 3) เสนอรูปแบบขององค์การแห่งการเรียนรู้ของมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย วิทยาเขตอีสาน กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้เป็นเจ้าหน้าที่สายบริการ เจ้าหน้าที่ อาจารย์ และผู้บริหาร รวมเป็นจำนวน 73 รูป/คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถาม แบบมาตราส่วนประมาณค่า ซึ่งมี 4 ระดับ จำนวน 35 ข้อ มีค่าอำนาจจำแนก (r) ตั้งแต่ 0.447 ถึง 0.834 ค่าความเชื่อมั่น โดยใช้สัมประสิทธิ์แอลฟา ตามวิธีของครอนบาค ได้ค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ 0.975 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานและทดสอบสมมติฐานด้วยค่าสัมประสิทธ์สหสัมพันธ์ด้วยวิธีของเพียร์สัน ที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติ .01
ผลการวิจัย พบว่า
การพัฒนารูปแบบองค์การแห่งการเรียนรู้ของมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย วิทยาเขตอีสาน โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก และรายด้าน โดยด้านที่มีระดับความคิดเห็นสูงสุด คือ ด้านความรอบรู้ส่วนตน รองลงมาคือ ด้านการคิดเชิงระบบ ส่วนด้านที่มีระดับความคิดเห็นต่ำสุด คือ ด้านแบบแผนความคิด
ความพร้อมของการเป็นองค์การแห่งการเรียนรู้ของมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย วิทยาเขตอีสาน โดยรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ โดยข้อที่มีระดับความคิดเห็นสูงสุด คือ มี การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการปฏิบัติงานในการเรียนรู้อย่างทั่วถึง รองลงมาคือ มีการทำงานร่วมกันเป็นทีม ส่วนข้อที่มีระดับความคิดเห็นต่ำสุด คือ ทุกคนในหน่วยงานมีการสร้างและถ่ายโอนความรู้แลกเปลี่ยนข่าวสารซึ่งกันและกัน
ผลการทดสอบความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหน้าที่ อาจารย์ และผู้บริหาร มีวินัย 5 ประการ กับความพร้อมในการเป็นองค์การแห่งการเรียนรู้ พบว่า เจ้าหน้าที่ อาจารย์ และผู้บริหาร โดยรวม มีวินัยลักษณะ 5 ประการ มีความสัมพันธ์ทางบวกกับความพร้อมในการเป็นองค์การแห่งการเรียนรู้ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 รายด้าน เจ้าหน้าที่ อาจารย์ และผู้บริหารมีวินัยลักษณะด้านความรอบรู้ ส่วนตน ด้านการมีวิสัยทัศน์ร่วม ด้านการเรียนรู้ร่วมกันเป็นทีม และด้านการคิดเชิงระบบ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 ส่วนด้านแบบแผนความคิดไม่มีความสัมพันธ์กันกับความพร้อมในการเป็นองค์การแห่งการเรียนรู้
รูปแบบองค์การแห่งการเรียนรู้ที่ได้รับจากผลการวิจัย ผู้ใช้องค์การแห่งการเรียนรู้ วิพากษ์รูปแบบองค์การแห่งการเรียนรู้ของมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย วิทยาเขตอีสาน โดยภาพรวม รูปแบบมีความเหมาะสม ที่สามารถนำไปใช้พัฒนามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย วิทยาเขตอีสาน ให้เป็นองค์การแห่งการเรียนรู้