การวิเคราะห์ปัญหาและอุปสรรคในการจัดทำรายงานการประเมินตนเองระดับหลักสูตร ของคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

Main Article Content

Nawarat Ngosanam
Ongunya Baochanya

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์ปัญหาและอุปสรรคในการจัดทำรายงานการประเมินตนเอง (SAR) ระดับหลักสูตร ของคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยการเก็บรวบรวมข้อมูลจากประธานคณะกรรมการบริหารหลักสูตร และผู้รับผิดชอบตัวชี้วัด/อาจารย์ประจำหลักสูตร ศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จำนวน 75 คน ด้วยการใช้ทั้งแบบสอบถาม และการสนทนากลุ่ม การประมวลผลข้อมูลด้วยโปรแกรม SPSS โดยทำการวิเคราะห์หาค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ใช้เทคนิค    การวิเคราะห์เนื้อหาเพื่อประมวลผลจากการสนทนากลุ่ม


ผลการวิจัยพบว่า กลุ่มตัวอย่างที่ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เป็นอาจารย์ประจำหลักสูตร จำนวน 22 คน คิดเป็นร้อยละ 64.7 และมีประสบการณ์ด้านการประกันคุณภาพการศึกษา ระหว่าง 1-5 ปี จำนวน 14 คน คิดเป็นร้อยละ 41.2 ระดับความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่างในเรื่องของปัญหาและอุปสรรคในการจัดทำรายงานการประเมินตนเอง SAR โดยภาพรวม ความคิดเห็นอยู่ในระดับมาก ค่าเฉลี่ย 3.52 ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 0.93 โดยกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เห็นว่าประเด็นที่เป็นปัญหาและอุปสรรคในการจัดทำรายงานการประเมินตนเอง SAR ที่สำคัญที่สุด 5 อันดับแรก คือ 1) ไม่สามารถบริหารเวลาสำหรับการจัดทำ SAR 2) ความเหมาะสมของการปรับ/การเปลี่ยนแปลงตัวบ่งชี้ 3) บุคลากรสนับสนุนการจัดทำ SAR มีไม่เพียงพอ 4) ความเหมาะสมของระยะเวลาในการจัดทำ SAR 5) การได้รับความร่วมมือที่ดีจากผู้ที่เกี่ยวข้อง ในขณะที่การสนทนากลุ่ม พบว่า 1) การไม่มีส่วนร่วมของบุคลากรภายในหลักสูตร ทำให้ขาดขวัญ/กำลังใจ ไม่มีความภาคภูมิใจในงานที่ทำ ไม่เข้าใจและไม่เต็มใจทำ 2) ขาดกระบวนการทำงานเป็นทีมที่มุ่งไปในทิศทางเดียวกัน 3) ขาดความรู้ความเข้าใจ และตระหนักถึงความสำคัญด้านการประกันคุณภาพการศึกษา 4) ขาดความสอดคล้องสัมพันธ์กันของกระบวนการต่างๆ ที่เกื้อหนุนไปสู่เป้าหมายเดียวกัน 5) ขาดกระบวนการทบทวนบทเรียนในอดีต ไม่มีการเรียนรู้ ปรับปรุง และพัฒนาอย่างต่อเนื่องทำให้เกิดความผิดพลาด/เกิดปัญหาซ้ำเดิม 6) การปรับเปลี่ยนเกณฑ์ที่ใช้ในการประเมินบ่อยครั้ง จนทำให้เป็นอุปสรรคต่อการเตรียมการและการปรับเปลี่ยนวิธีการจัดหาข้อมูลให้ทันตามกำหนด 7) ตัวชี้วัดที่มีผู้รับผิดชอบมากกว่า 1 คน ส่วนใหญ่มีปัญหาด้านการประสานงานทำให้ได้ข้อมูลหรือหลักฐานไม่ครบถ้วน 8) ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศไม่สามารถรองรับการจัดทำ SAR ที่มีประสิทธิภาพ


ข้อเสนอแนะในการแก้ปัญหา ผู้บริหารมีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อการจัดทำรายงานการประเมินตนเอง SAR ระดับหลักสูตร ให้ประสบผลสำเร็จตามแนวทางการประกันคุณภาพการศึกษาภายในระดับหลักสูตร ผู้บริหารควรสร้างขวัญและกำลังใจ ให้มีความภาคภูมิใจในงานที่ทำ และสร้างความตระหนักถึงความสำคัญด้านการประกันคุณภาพการศึกษา เพื่อมุ่งไปในทิศทางเดียวกัน

Article Details

บท
บทความวิจัย (Research Article)