กระบวนการจิตตปัญญาศึกษาในชั้นเรียนศิลปะ

Main Article Content

Siribhong Bhiasiri

บทคัดย่อ

 การเรียนการสอนในชั้นเรียนศิลปะของไทยปัจจุบัน นอกจากจะให้ผู้เรียนมีความรู้และทักษะแล้ว
ยังต้องสอนให้ผู้เรียนเป็นคนดีและมีความสุขอีกด้วย กระบวนการเรียนรู้จากภายในหรือการเรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญถือเป็นแนวทางหนึ่งในการศึกษาทางเลือกที่เรียกว่า “จิตตปัญญาศึกษา” ที่กำลังแพร่หลายในวงการศึกษาทุกระดับ แต่ก็ยังไม่มีการใช้ในชั้นเรียนศิลปศึกษาอย่างจริงจัง การวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและความคิดเห็นของนักศึกษาที่มีต่อการใช้กระบวนการจิตตปัญญาศึกษาในชั้นเรียนศิลปศึกษา โดยใช้รูปแบบการวิจัยแบบการวิจัยเชิงทดลองขั้นต้น แบบกลุ่มเดียววัดผลหลังการทดลองมีกลุ่มเป้าหมายเป็นนักศึกษาสาขาวิชาศิลปศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ชั้นปีที่ 1 จำนวน 32 คน โดยใช้แผนการจัดการเรียนรู้ แบบประเมินผลงาน และแบบประเมินการสอน เป็นเครื่องมือในการวิจัย ซึ่งเก็บรวบรวมข้อมูลโดยทดลองใช้กระบวนการจิตตปัญญาศึกษาในชั้นเรียน 13 ครั้ง วิเคราะห์ข้อมูลโดยการหาค่าเฉลี่ย ( ) และร้อยละ (%) จากคะแนนผลงาน และหาข้อสรุปจากการประเมินการสอน ได้ผลการวิจัยดังนี้


1) ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักศึกษาจากการใช้กระบวนการจิตตปัญญาศึกษาในชั้นเรียนศิลปศึกษา พบว่านักศึกษามีคะแนนเฉลี่ยคิดเป็นร้อยละ 80.56 ของคะแนนเต็ม และมีจำนวนนักศึกษาที่ผ่านเกณฑ์คิดเป็นร้อยละ 75.00 ของจำนวนนักเรียนทั้งหมด ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้


2) ความคิดเห็นของนักศึกษาที่มีต่อการใช้กระบวนการจิตตปัญญาศึกษาในชั้นเรียนศิลปศึกษา พบว่านักศึกษาเกิดความตระหนักรู้ เข้าใจตนเองและผู้อื่น มีความสุขในการเรียนรายวิชานี้


การจัดการเรียนการสอนตามกระบวนการจิตตปัญญาศึกษานี้จะช่วยพัฒนาจิตใจผู้เรียนจากภายในให้ผู้เรียนมีความสุข สงบ สบาย เมื่อจิตใจสงบนิ่ง เคารพตัวเองและผู้อื่น กล่อมเกลาให้คิดแต่สิ่งดีๆ ก็จะส่งผลให้ทำแต่สิ่งที่ดี ที่ถูกต้อง ตั้งใจเรียน ส่งผลให้มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนดี ตามเป้าหมายของการศึกษาไทยที่ต้องการให้ผู้เรียน เก่ง ดี มีความสุข


 


 

Article Details

บท
บทความวิจัย (Research Article)