ประเพณีจุลกฐินของชาวพุทธล้านนาในวัดอนาลโยทิพยาราม

ผู้แต่ง

  • พระโพธิญาณรังสี วิ. (พิศิษฐ์ เมตฺตจิตฺโต) วัดอนาลโยทิพยาราม อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา

คำสำคัญ:

ประเพณีจุลกฐิน, วัดอนาลโยทิพยาราม, ชาวพุทธล้านนา

บทคัดย่อ

          บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษากฐินและจุลกฐินในคัมภีร์พระไตรปิฎกจุลกฐินในล้านนา และวิเคราะห์จุลกฐินวัดอนาลโยทิพยาราม จังหวัดพะเยา การวิจัยในครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงเอกสาร และเชิงคุณภาพ โดยการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับพิธีจุลกฐินในพระพุทธศาสนาและในล้านนาจากข้อมูลปฐมภูมิ ได้แก่ พระไตรปิฎก อรรถกถา ประวัติและหนังสือพิธีจัดงานจุลกฐินของวัดอนาลโยทิพยาราม และข้อมูลทุติยภูมิ เช่น เอกสารวิชาการ รายงานการวิจัย วิทยานิพนธ์ที่เกี่ยวข้องกับพิธีจุลกฐินในล้านนา ตลอดถึงการเก็บข้อมูลภาคสนามด้วยการสัมภาษณ์เชิงลึกโดยการสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้าง และไม่มีโครงสร้างจากกลุ่มประชากรตัวอย่าง

          ผลการวิจัยพบว่า ประเพณีการทอดจุลกฐินมีการกล่าวไว้ในคัมภีร์อรรถกถาธรรมบท ส่วนจุลกฐินในไทยพบเฉพาะในภาคอีสานและในภาคเหนือเท่านั้น ในอดีตประเพณีนี้ไม่ได้ปฏิบัติอย่างแพร่หลาย เฉพาะจังหวัดพะเยาไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีการจัดงานจุลกฐินมาก่อน กระทั่งวัดอนาลโยทิพยารามได้จัดเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2540 เพื่อต้องการอนุรักษ์และสืบทอดประเพณีจุลกฐินในล้านนา การจัดพิธีจุลกฐินวัดอนาลโยทิพยารามถือเป็นประเพณีประจำปี มีพิธีการ 3 ขั้นตอน คือ 1) พิธีปลูกฝ้ายซึ่งจัดในวันวิสาขบูชา 2) พิธีรดน้ำดูแลต้นฝ้ายในวันเข้าพรรษา และ 3) พิธีจุลกฐินใหญ่จะจัดในช่วงวันออกพรรษา ซึ่งไม่แตกต่างกับจุลกฐินทั่วไป จุดเด่นสำคัญ คือ การประยุกต์การจัดงานจุลกฐินให้เข้ากับวัฒนธรรมล้านนาและเพิ่มพิธีการล่วงหน้า 2 พิธีดังกล่าว เพื่อสร้างความสามัคคีให้กับเจ้าภาพและชาวบ้านในชุมชนก่อนที่จะถวายผ้าจุลกฐิน นอกจากนี้ ยังมีคุณค่าด้านการศึกษาให้ผู้มาร่วมงาน รวมถึงเยาวชนได้เห็นขั้นตอนการทำผ้าจุลกฐิน ส่วนการจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรม เช่น การแสดงดนตรี การฟ้อนรำแบบล้านนา ถือเป็นการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมที่ดีงามแก่นักท่องเที่ยว ทั้งเป็นการส่งเสริมเยาวชนในท้องถิ่นให้แสดงออกในสิ่งที่ดีงาม นอกจากนี้ ยังเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน สร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้านจากการขายของที่ระลึกและส่งเสริมการท่องเที่ยวในจังหวัดพะเยา

References

คณะศิษย์หลวงพ่อไพบูลย์. (2553). ประวัติวัดอนาลโยทิพยาราม. กรุงเทพมหานคร: สิริพัทธ์การพิมพ์.

พระครูอุดมภาวนาจาร. (2555). ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดอนาลโยทิพยาราม. สัมภาษณ์. 20 มีนาคม.

พระเทพเวที (ป.อ. ปยุตฺโต). (2532). ความสำคัญของพระพุทธศาสนาในฐานะศาสนาประจำชาติ. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย.

มณี พะยอมยงค์. (2547). ประเพณี 12 เดือนล้านนาไทย. เชียงใหม่: หสน. ส.ทรัพย์การพิมพ์.

มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. (2539). พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. กรุงเทพมหานคร: มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

ศรีเลา เกษพรหม. (2544). ประเพณีชีวิตคนเมือง, พิมพ์ครั้งที่ 2. เชียงใหม่: โรงพิมพ์นพบุรี.

สมทรง ปุญญฤทธิ์. (2525). เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนาและวัฒนธรรมไทย. กรุงเทพมหานคร: ธรรมบูชา.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2017-06-30