ผ้าทอที่ใช้ในพระพุทธศาสนาของชาวไทลื้อเชียงคำ

ผู้แต่ง

  • อัษฎากรณ์ ฉัตรานันท์ เทศบาลเมืองพะเยา

คำสำคัญ:

ผ้าทอไทลื้อ, ผ้าทอในพระพุทธศาสนา, ชาวไทลื้อเชียงคำ

บทคัดย่อ

          บทความวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาคติความเชื่อเรื่องผ้าทอในพระพุทธศาสนา รูปแบบผ้าทอที่ใช้ในพระพุทธศาสนาของชาวไทลื้อเชียงคำ และความเชื่อเรื่องผ้าทอที่ใช้ในพระพุทธศาสนาของชาวไทลื้อเชียงคำ การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงเอกสารและเชิงคุณภาพ ซึ่งได้ค้นคว้าจากข้อมูลปฐมภูมิ คือ พระไตรปิฎก และข้อมูลทุติยภูมิ คือ เอกสารบทความวิชาการ หนังสือ ตำรา เป็นต้น นอกจากนี้ ได้เก็บข้อมูลด้วยการถ่ายภาพ สัมภาษณ์เชิงลึก สนทนากลุ่มจากกลุ่มตัวอย่างที่เชี่ยวชาญผ้าทอไทลื้อ คือ พระภิกษุ สามเณร ปู่อาจารย์ ผู้อาวุโส ช่างทอ กลุ่มละ 5 รูป/คน ในพื้นที่ 10 หมู่บ้าน จำนวน 4 ตำบล

          ผลการวิจัยพบว่า ผ้าทอที่ปรากฏในพระไตรปิฎกมี 5 ลักษณะ คือ ผ้าที่บอกวัสดุใช้ทอ ผ้าที่บอกแหล่งที่มา ผ้าที่พระภิกษุใช้นุ่งห่ม ผ้าบริขารใช้สอยของพระภิกษุ และผ้าถวายเป็นเครื่องสักการะ ส่วนรูปแบบผ้าทอที่ใช้ในพระพุทธศาสนาของชาวไทลื้อมี 5 ประเภท คือ ผ้าทอสำหรับพระพุทธ ผ้าทอสำหรับพระธรรม ผ้าทอสำหรับพระสงฆ์ ผ้าทอสำหรับเป็นเครื่องสักการะ และผ้าทออื่น ๆ เช่น ผ้าปกหน้าพระเจ้า ในด้านความเชื่อเรื่องผ้าทอที่ใช้ในพระพุทธศาสนาพบว่า มีความเกี่ยวข้องกับศรัทธาในพระรัตนตรัยว่า เป็นที่พึ่งอย่างแท้จริง ซึ่งสะท้อนมาจากผ้าที่สร้างขึ้นเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา และสังฆบูชา ผนวกเข้ากับความเชื่อเรื่องการให้ทาน อันถือเป็นการสร้างและสั่งสมบุญกุศลให้แก่ตนเอง และเรื่องการอุทิศบุญกุศลแก่ญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว ซึ่งเป็นคติความเชื่อทางพระพุทธศาสนาที่ยังคงมีอิทธิพลต่อชาวไทลื้อเชียงคำตราบเท่าปัจจุบัน 

References

ทรงศักดิ์ ปรางวัฒนากุล และแพทรีเซีย ชีสแมน. (2530). ผ้าล้านนา ยวน ลื้อ ลาว. เชียงใหม่: โครงการศูนย์ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

ทรงศักดิ์ ปรางวัฒนากุล. (2551). มรดกวัฒนธรรมผ้าทอไทลื้อ. เชียงใหม่: มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

นพพร พวงสมบัติ. (2547). กระบวนการเรียนรู้ของผู้ผลิตผ้าซิ่นตีนจก อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่เพื่อรักษาและสืบทอดเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม ท่ามกลางบริบทสังคมบริโภคนิยม. วิทยานิพนธ์ปริญญาศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

ประไพ ทองเชิญ. (2548). นี้คือผ้าทอพื้นบ้าน โครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการการกำหนดมาตรฐานผ้าทอพื้นบ้านเพื่อสิ่งแวดล้อม. กรุงเทพมหานคร: ศูนย์หนังสือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ภัทริน กุสุพลนนท์. (2548). การทอผ้าไทลื้อ กลุ่มแม่บ้านบ้านธาตุสบแวน อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา. วิทยานิพนธ์ปริญญาศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. (2539). พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. กรุงเทพมหานคร: มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

ยิ่งยง เทาประเสริฐ และ อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว. (2552). ภูมิปัญญาล้านนาในมิติวัฒนธรรม. เชียงใหม่: คณะอนุกรรมการการวิจัยวัฒนธรรมภาคเหนือ.

วิถี พานิชพันธุ์. (2547). ผ้าและสิ่งถักทอไท. กรุงเทพมหานคร: โอ เอส พริ้นติ้งเฮ้าส์.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2017-06-30