การอนุรักษ์พุทธประติมากรรมหินทรายใน พิพิธภัณฑ์เวียงพยาว (วัดลี)

ผู้แต่ง

  • พระวิมลญาณมุนี (บุญชื่น ฐิตธมฺโม) วัดลี อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา

คำสำคัญ:

พุทธประติมากรรม, ประติมากรรมหินทราย, พิพิธภัณฑ์เวียงพยาว

บทคัดย่อ

          บทความวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประวัติและประเภทของพุทธประติมากรรมหินทราย รวมถึงแนวคิดเกี่ยวกับการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์เวียงพยาว (วัดลี) และกระบวนการอนุรักษ์พุทธประติมากรรมหินทรายของพิพิธภัณฑ์เวียงพยาว งานวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงเอกสารด้วยการรวบรวมข้อมูลจากหนังสือ บทความ รายงานการวิจัย วิทยานิพนธ์ที่เกี่ยวข้อง และเป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพด้วยการเก็บรวบรวมข้อมูลจากการสัมภาษณ์นักวิชาการด้านพุทธศิลป์ นักโบราณคดี และปราชญ์ท้องถิ่นที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการแกะสลักหินทราย

          ผลการวิจัยพบว่า ช่างอินเดียได้มีอิทธิพลต่อศิลปะขอม จากนั้นได้แพร่มาถึงช่างศิลป์สกุลช่างพะเยา โดยมีประเภทของพุทธประติมากรรมต่าง ๆ เช่น การแกะสลักโดยใช้วัสดุหินทราย ซึ่งเป็นวัสดุที่มีความคงทนแข็งแกร่งอย่างมาก สำหรับการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์เวียงพยาว ได้ริเริ่มโดยพระวิมลญาณมุนี เจ้าอาวาสวัดลี ซึ่งเก็บรวบรวมพุทธประติมากรรมหินทรายไว้ในวัด ต่อมาได้จัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์ขึ้น ส่วนกระบวนการอนุรักษ์ได้มีการจัดเก็บเป็นหมวดหมู่ รักษาอย่างถูกวิธีตามพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 (ฉบับแก้ไข) แต่ระเบียบการบางอย่างก็ไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะขาดการสนับสนุนด้านงบประมาณและบุคลากร อย่างไรก็ตาม พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ได้บริหารจัดการโดยให้ชาวบ้านได้มีส่วนร่วมในรูปแบบของคณะกรรมการดูแลรักษา  มีการอบรมให้ชาวบ้านวัดลีได้เป็นมัคคุเทศก์ อันแสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างบ้านกับวัดของสังคมไทยที่เกื้อกูลส่งเสริมกัน และเป็นพลังชุมชนที่ร่วมกันอนุรักษ์พุทธศิลปะหินทรายของพิพิธภัณฑ์ อันก่อให้เกิดประโยชน์มหาศาลต่อผู้ที่สนใจเรียนรู้ภูมิปัญญาของบรรพชนในอดีต

References

เกรียงศักดิ์ ชัยดรุณ. (2551). โบราณวัตถุและศิลปวัตถุในพิพิธภัณฑ์เวียงพยาว (วัดลี). พะเยา: นครนิวส์การพิมพ์.

พระครูปริยัติกิตติคุณ. (2546). บทประเด็นน่าสนใจในหอวัฒนธรรมนิทัศน์วัดศรีโคมคำ. พะเยา: หอวัฒนธรรมนิทัศน์วัดศรีโคมคำ.

วัดลี. (ม.ป.ป.). พิพิธภัณฑ์เวียงพยาว (วัดลี) (เอกสารอัดสำเนา).

ศักดิ์ชัย สายสิงห์. (2532). พระพุทธรูปหินทรายสกุลช่างพะเยา. วิทยานิพนธ์ศิลปะศาสตรมหาบัณฑิต บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร.

ศิลปวัฒนธรรม. (2538). ประวัติศาสตร์ สังคมและวัฒนธรรมเมืองพะเยา. กรุงเทพมหานคร: พิฆเณศ พริ้นท์ติ้ง เซ็นเตอร์.

สมทรง ปุญญฤทธิ์. (2525). เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนาและวัฒนธรรมไทย. กรุงเทพมหานคร: ธรรมบูชา.

แสง จันทร์งาม. (2523). ศาสนาในลานนาไทย. เชียงใหม่: ทิพย์เนตรการพิมพ์.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2017-06-30