ความนิยมในการเรียนภาษาญี่ปุ่นและภาษาจีน ของนิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์: แรงจูงใจแตกต่างกันอย่างไร

ผู้แต่ง

  • ยุพกา ฟูกุชิม่า
  • กนกพร นุ่มทอง
  • สร้อยสุดา ณ ระนอง

บทคัดย่อ

บทความนี้ศึกษาเกี่ยวกับแรงจูงใจและทัศนคติ ต่อการเรียนภาษาญี่ปุ่นและภาษาจีนของนิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สภาพการณ์ปัจจุบันของการศึกษาภาษาญี่ปุ่นและภาษาจีนในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยวิเคราะห์ว่ามีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ อย่างไร

งานวิจัยนี้ใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือหลักในการสำรวจ รวมทั้งสืบค้นข้อมูลและศึกษาเอกสารที่เกี่ยวข้อง กลุ่มเป้าหมายได้แก่ นิสิตวิชาเอกและนิสิตนอกสาขา ที่ลงทะเบียนเรียนวิชาภาษาญี่ปุ่น/ภาษาจีนที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน

ผลการศึกษาพบว่าแรงจูงใจของนิสิตที่เรียนภาษาญี่ปุ่น 2 อันดับแรก คือ “เนื่องจากชอบและสนใจในวัฒนธรรมญี่ปุ่น” และ “เนื่องจากภาษาญี่ปุ่นใช้ในการหางานได้ง่ายและเงินเดือนสูง” ส่วนแรงจูงใจของนิสิตที่เรียนภาษาจีน 2 อันดับแรกคือ “เนื่องจากคาดว่าประเทศจีนจะกลายเป็นประเทศมหาอำนาจในอนาคต” และ“เนื่องจากชอบและสนใจในวัฒนธรรมจีน” ตามลำดับ ส่วนทัศนคติในการเรียนภาษาญี่ปุ่นและภาษาจีนนั้น พบว่านิสิตกว่า ร้อยละ 95 ชอบเรียนภาษาญี่ปุ่น/ภาษาจีน ด้วยเหตุผลที่สอดคล้องกับแรงจูงใจของผู้เรียน

นอกจากนี้ จากการสืบค้นข้อมูลและการศึกษาเอกสารตั้งแต่ปี 2549 ถึงปัจจุบัน พบว่าการเรียนการสอนภาษาจีนมีการขยายตัวแบบก้าวกระโดด โดยเฉพาะจำนวนผู้เรียน จากข้อมูลการลงทะเบียนเรียนของนิสิตประจำปี 2555 พบว่า ผู้เรียนภาษาจีนมีมากกว่าภาษาญี่ปุ่นประมาณร้อยละ 40 ด้านจำนวนผู้สอนนั้น ปัจจุบันสาขาวิชาภาษาจีนมีอาจารย์ประจำชาวไทย 10 คน มากกว่าสาขาวิชาภาษาญี่ปุ่น ซึ่ง เริ่มเปิดสอนมาก่อนเกือบ 20ปี ถึง 3 อัตรา และมีการจัดตั้งสถาบันขงจื๊อ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อันเป็นนโยบายเชิงรุกด้านการเผยแพร่ภาษาและวัฒนธรรมจีน ซึ่งเป็นปัจจัยที่ผลักดันให้การเรียนการสอนภาษาจีนมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นด้วย

Downloads