คำเรียกการทำอาหารในภาษาไทยถิ่นกลาง: การศึกษาตามแนวอรรถศาสตร์ชาติพันธุ์

ผู้แต่ง

  • นลินภัสร์ เมฆเกรียงไกร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • มิ่งมิตร ศรีประสิทธิ์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

คำสำคัญ:

คำเรียกการทำอาหาร, ภาษาไทยถิ่นกลาง, อรรถศาสตร์ชาติพันธุ์

บทคัดย่อ

งานวิจัยนี้เป็นการศึกษาคำเรียกการทำอาหารในภาษาไทยถิ่นกลาง มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์องค์ประกอบทางความหมายและมิติแห่งความแตกต่างทางความหมายของคำเรียกการทำอาหารในภาษาไทยถิ่นกลาง มีขอบเขตของการศึกษา คือ ศึกษาคำเรียกการทำอาหารเฉพาะคำกริยาเท่านั้น ไม่รวมการทำขนม ของว่าง เครื่องดื่ม และของมึนเมา ผู้วิจัยเก็บข้อมูลจากการสัมภาษณ์ผู้บอกภาษาที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ ภาคกลาง แบ่งเป็นพื้นที่ใจกลางภาคกลาง ภาคกลางตะวันออก และภาคกลางตะวันตก ได้แก่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ชลบุรี และราชบุรี ตามลำดับ ผู้วิจัยคัดเลือกผู้บอกภาษาตามคุณสมบัติที่กำหนด จังหวัดละ 3 คน ผลการศึกษาพบว่า คำเรียกการทำอาหารในภาษาไทยถิ่นกลางมี 69 คำ จากการวิเคราะห์องค์ประกอบทางความหมาย พบว่า มิติแห่งความแตกต่างทางความหมายของคำมี 11 มิติ เมื่อนำอรรถลักษณ์ของแต่ละคำมารวมกันจะแสดงให้เห็นความเหมือนและความแตกต่างทางความหมายของคำได้ เมื่อใช้วิธีการจัดจำพวกแบบชาวบ้าน พบว่า คำเรียกการทำอาหารในภาษาไทยถิ่นกลางมีความสัมพันธ์ทางความหมายของคำในระดับเสมอกันและต่างระดับกัน คำเรียกการทำอาหารส่วนใหญ่เป็นสมาชิกในชั้นลำดับเฉพาะเจาะจง คำเรียกการทำอาหารในภาษาไทยถิ่นกลางบางส่วนมีความหมายคล้ายคลึงกันใน 2 ลักษณะ คือ คำที่มีอรรถลักษณ์ต่างกันในบางมิติที่มิได้ทำให้ความหมายโดยรวมของคำนั้นต่างไป เช่น จุดประสงค์ วัตถุดิบที่ไม่ใช่วัตถุดิบหลัก คำเหล่านี้จะปรากฏเป็นคำเดียวกัน ขณะที่คำที่มีอรรถลักษณ์ต่างกันในบางมิติที่ทำให้ความหมายโดยรวมของคำนั้นต่างไป เช่น วิธีการทำ วัตถุดิบที่เป็นวัตถุดิบหลัก คำเหล่านี้จะปรากฏเป็นคำอื่น

References

โกสินทร์ ปัญญาอธิสิน. (2552) การศึกษาคำเรียกการทำอาหารในภาษาไทยถิ่นเหนือตามแนวอรรถศาสตร์ชาติพันธุ์. วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาภาษาศาสตร์, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

สุวิไล เปรมศรีรัตน์ และคณะ. (2547) แผนที่ภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในประเทศไทย. กรุงเทพฯ: คุรุสภา.

อมรา ประสิทธิ์รัฐสินธุ์. (2549) พินิจไทยไตรภาค ปฐมภาค: ภาษา. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

Berlin, B. (1992) Ethnobiological classification: principles of categorization of plants and animals in tradition societies. NJ: Princeton University Press.

Supapas Kumtanode. (2006) Thai Regional cooking terms: an Ethnosemantic study. Unpublished Dissertation, Mahidol University.

Sapir, E. (1929) The Status of Linguistics as a Science. Language, 5(4), pp. 207-214.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

30-08-2021