การออกแบบผลงานสร้างสรรค์จากความหมายของสี โดยใช้กระบวนท่านาฏยศิลป์ไทย

ผู้แต่ง

  • ณัฐพร เพ็ชรเรือง คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • นราพงษ์ จรัสศรี คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

คำสำคัญ:

ความหมายของสี, นาฏยศิลป์ไทย, เจเนอเรชั่นซี (Generation Z), นาฏยศิลป์สร้างสรรค์

บทคัดย่อ

บทความวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อออกแบบลีลานาฏยศิลป์ไทยจากความหมายของสี โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยแบบผสมผสาน ระหว่างการวิจัยเชิงคุณภาพและงานวิจัยเชิงสร้างสรรค์ กลุ่มตัวอย่างในการวิจัยคือ ประชากรกลุ่มเจเนอเรชั่นซี (Generation Z) อายุระหว่าง 11-25 ปี จํานวน 414 คน แบ่งเป็นเพศชาย 137 คน หญิง 262 คน และกลุ่มความหลากหลายทางเพศ 15 คน ใช้การเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบไม่เจาะจงและเลือกกลุ่มตัวอย่างจากทุกภูมิภาคของประเทศไทย มีเครื่องมือการวิจัย ได้แก่ ข้อมูลเชิงเอกสาร แบบสอบถามความคิดเห็นเรื่องสีจากกลุ่มเจเนอเรชั่นซี การสัมภาษณ์ การสังเกตการณ์ การสัมมนา สื่อสารสนเทศ เกณฑ์การสร้างมาตรฐานในการยกย่องบุคคลต้นแบบทางด้านนาฏยศิลป์ และประสบการณ์ส่วนตัวทางด้านนาฏยศิลป์ของผู้วิจัย โดยนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์และนำไปสู่การสร้างสรรค์ผลงาน ซึ่งประกอบด้วยความหมายของสีขั้นที่ 1 (สีน้ำเงิน สีเหลือง สีแดง) และสีขั้นที่ 2 (สีส้ม สีเขียว สีม่วง) ผลการวิจัยพบว่า ความหมายของสี 6 สี จากกลุ่มเจเนอเรชั่นซี นำมาสู่การออกแบบลีลานาฏยศิลป์ไทย ได้ดังนี้ 1) สีน้ำเงิน หมายถึง ความสุขุม สงบนิ่ง นำเสนอผ่านท่ากลางอัมพร ท่าผาลา และท่าเดิน ที่เป็นท่าอากัปกิริยามาใช้เคลื่อนไหวอย่างสุขุม 2) สีเหลือง หมายถึง ความสดใส นำเสนอผ่านท่าอำไพ อีกทั้งนำท่าป้องปาก ที่สื่อถึงการร้องเพลง และท่าปรบมือ ที่สื่อถึงความสนุกสนาน 3) สีแดง หมายถึง ความร้อนแรง นำเสนอผ่านท่าการเกี้ยวพาราสี 4) สีส้ม หมายถึง ความอบอุ่น นำเสนอผ่านท่ารัก ท่าภมรเคล้า ที่สื่อถึงการเคล้าคลอ ความผูกพัน 5) สีเขียว หมายถึง ความร่มรื่น นำเสนอผ่านท่ากังกันร่อน ท่าเครือวัลย์พันไม้ ท่าลมพัดยอดตอง ท่าบัวชูฝัก ท่ามัจฉา ท่ากวางเดินดง และท่ายูงฟ้อนหาง 6) สีม่วง หมายถึง ความลึกลับ นำเสนอผ่านท่าบังสุริยา

References

ผุสดี หลิมสกุล. (มปป.) วิธีการฝึกตีบทและใช้บท. กรุงเทพฯ: คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

พัชรินทร์ สันติอัชวรรณ. (2561). หลักนาฏยประดิษฐ์ไทยจากศิลปินต้นแบบตัวนางสู่นวัตกรรมการสร้างสรรค์รำเดี่ยวมาตรฐาน. วารสารศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 5(2), หน้า 83-94.

สุภาวดี โพธิเวชกุล. (2559). พัฒนาการแม่บทในนาฏศิลป์ไทย. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ: สำนักพิพม์แห่งมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา.

Fehrman, K., & C. (2004). The Secret Influence Color. (2nd ed.). New Jersey: Pearson Education.

Leeuwen, T.V. (2011). The Language of Colour. Abingdon England: Routledge Press.

Stone, T.L., Adams, S., & Morioka, N. (2006). Color Design Workbook. USA: Rockport Publishers.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

18-08-2020