ศึกษาความรู้และความเข้าใจในการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ตามแนวสติปัฏฐาน 4 ของผู้ปฏิบัติธรรมชาวต่างชาติ

ผู้แต่ง

  • อัญชลี จตุรานน

คำสำคัญ:

สติปัฏฐาน 4, ผู้ปฏิบัติธรรมชาวต่างชาติ

บทคัดย่อ

งานวิจัยหัวข้อ “ศึกษาความรู้และความเข้าใจในการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานตามแนวสติปัฏฐาน 4 ของผู้ปฏิบัติธรรมชาวต่างชาติ” มีวัตถุประสงค์คือ (1) เพื่อศึกษาการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานตามแนวสติปัฏฐาน 4 ในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท (2) เพื่อศึกษาการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานตามแนวสติปัฏฐาน 4 ของสำนักปฏิบัติธรรมนานาชาติ วัดร่ำเปิง (ตโปทาราม) และ (3) เพื่อศึกษาความรู้และความเข้าใจในการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานตามแนวสติปัฏฐาน 4 ของผู้ปฏิบัติธรรมชาวต่างชาติ งานวิจัยนี้เป็นการศึกษาเชิงคุณภาพ โดยมีทั้งการวิจัยเอกสารและการวิจัยภาคสนาม ใช้เครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูลภาคสนาม 2 ประเภทคือ การสัมภาษณ์ และ การสังเกตแบบมีส่วนร่วม

ผลการวิจัยสรุปได้ว่าวิปัสสนากรรมฐานตามแนวสติปัฏฐาน 4 คือ หนทางปฏิบัติเพื่อการชำระจิตให้บริสุทธิ์หนทางหนึ่งในพระพุทธศาสนา เป็นหนทางที่มุ่งเน้นการเกิดปัญญารู้แจ้งเห็นสภาวะต่างๆตามความเป็นจริง โดยการตั้งสติกำหนดพิจารณาเห็นสิ่งทั้งหลายให้รู้เห็นเท่าทันตามความเป็นจริง แบ่งเป็น 4 หมวดคือ (1) กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน (การตามระลึกรู้กาย) มี 6 หมวดย่อยคือ หมวดอานาปานะ  หมวดอิริยาบถ  หมวดสัมปชัญญะ  หมวดมนสิการธาตุ  และหมวดนวสิวถิกะ (2) เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน (การตามระลึกรู้เวทนา) (3) จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน (การตามระลึกรู้จิต) และ (4) ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน (การตามระลึกรู้ธรรม) มี 5 หมวดย่อยคือ หมวดนิวรณ์ หมวดขันธ์ หมวดอายตนะ หมวดโพชฌงค์ และหมวดสัจจะ ผู้ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานตามแนวสติปัฏฐาน 4 จะได้รับประโยชน์ในปัจจุบันคือ ร่างกายและจิตใจแข็งแรงมากขึ้น ประโยชน์ภายภาคหน้าคือ การไปสู่ภพภูมิที่ดีขึ้น และประโยชน์สูงสุดคือ การเข้าถึงพระนิพพานอันเป็นภาวะหลุดพ้นจากกองทุกข์ทั้งปวง

วัดร่ำเปิง (ตโปทาราม) มีการอบรมการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานตามแนวสติปัฏฐาน 4 ให้แก่ผู้ปฏิบัติธรรมชาวไทยและชาวต่างชาติอย่างต่อเนื่องกันตลอดปี โดยยึดคำสอนจากพระไตรปิฎกเป็นหลัก และปฏิบัติในแนวทางการกำหนดพองหนอ – ยุบหนอ มีระเบียบการเข้าปฏิบัติและวิธีการฝึกอบรมสำหรับชาวไทยและชาวต่างชาติเหมือนกันทุกประการ ผู้ปฏิบัติทุกท่านจะเริ่มฝึกจากการกราบสติปัฏฐาน คือการกำหนดรู้อย่างละเอียดในการกราบพระรัตนตรัย 3 ครั้ง จากนั้นจึงเดินจงกรม คือการกำหนดรู้ในอาการก้าวเดินอย่างละเอียด แบ่งเป็น 6 ระยะ โดยเริ่มจากการเดินจงกรม 1 ระยะ คือ การกำหนด “ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ”สลับกับการนั่งสมาธิกำหนดอาการ “พองหนอ ยุบหนอ” นอกจากนี้ยังให้กำหนดอิริยาบถย่อยในช่วงระหว่างวันและกำหนดรู้อาการต่างๆที่เกิดขึ้นทั้งทางกายและทางใจอย่างต่อเนื่อง โดยพระวิปัสสนาจารย์จะเป็นผู้พิจารณาเพิ่มลำดับขั้นในการปฏิบัติให้แก่ผู้ปฏิบัติธรรมแต่ละท่านเป็นรายบุคคลในช่วงสอบอารมณ์ เพื่อพัฒนากำลังสติให้แก่กล้ามากขึ้น สามารถเห็นสภาวะต่างๆตามความเป็นจริงได้ชัดเจนยิ่งขึ้นเรื่อยๆ จนเกิดปัญญาเห็นพระไตรลักษณ์ในที่สุด

ผู้ปฏิบัติธรรมชาวต่างชาติมีความรู้และความเข้าใจในการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานตามแนวสติปัฏฐาน 4 ในระดับดี คือมีคะแนนเฉลี่ยเรื่องความรู้และความเข้าใจในวิธีการปฏิบัติ ร้อยละ 74 ของคะแนนเต็ม และมีคะแนนเฉลี่ยเรื่องความรู้และความเข้าใจในประโยชน์ของการปฏิบัติ ร้อยละ 71 ของคะแนนเต็ม คำถามที่กลุ่มตัวอย่างมีความรู้และความเข้าใจมากคือคำถามเกี่ยวกับวิธีการปฏิบัติ ประโยชน์ในปัจจุบัน และประโยชน์ในภายภาคหน้าของการปฏิบัติ ส่วนคำถามที่กลุ่มตัวอย่างมีความรู้และความเข้าใจน้อย คือคำถามเกี่ยวกับคำนิยามของการปฏิบัติในแต่ละรูปแบบ และประโยชน์สูงสุดของการปฏิบัติ พบว่าผลการประเมินความรู้และความเข้าใจของกลุ่มตัวอย่างจากการสัมภาษณ์ สอดคล้องกับผลบันทึกจากการสังเกตแบบมีส่วนร่วมซึ่งแสดงผลว่ากลุ่มตัวอย่างมีความตั้งใจในการปฏิบัติ เคารพกฎระเบียบของทางวัด และปฏิบัติได้ถูกต้องตรงตามที่ได้รับการอบรมมา

References

กองงานเลขานุการ วัดร่ำเปิง (ตโปทาราม). (2556). สำนักวิปัสสนากรรมฐานประจำจังหวัดเชียงใหม่แห่งที่ 2 วัดร่ำเปิง (ตโปทาราม). พิมพ์ครั้งที่ 6. เชียงใหม่.

คณะลูกศิษย์. (2555). ทางสายเอก. เชียงใหม่: ช้างเผือก.

บุญธรรม กิจปรีดาบริสุทธิ์, ศ. (2553). เทคนิคการสร้างเครื่องมือรวบรวมข้อมูลสำหรับการวิจัย. พิมพ์ครั้งที่ 7. กรุงเทพมหานคร : ศรีอนันท์.

พรรณราย รัตนไพฑูรย์. (2544). การศึกษาวิธีการปฏิบัติวิปัสสนากัมฐานตามแนวสติปัฏฐาน 4 ศึกษาแนวการสอนของพระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ญาณสิทฺธิ). บัณฑิตวิทยาลัย : มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

พระครูภาวนาวิรัช (สุพันธ์ อาจิณณฺสีโล). (2556). สรรพธรรม 2. พิมพ์ครั้งที่ 1. เชียงใหม่: สมศักดิ์การพิมพ์.

พระครูภาวนาวิรัช (สุพันธ์ อาจิณณฺสีโล). (2556). สรรพธรรม 3. พิมพ์ครั้งที่ 1. เชียงใหม่ : ณัฐพลการพิมพ์.

พระเทพสิทธาจารย์ (พระอาจารย์ทอง สิริมงฺคโล). (2548). คู่มือการปฏิบัติวิปัLสสนากรรมฐานในแนวสติปัฏฐาน 4. พิมพ์ครั้งที่ 10. เชียงใหม่: ดาราวัลย์การพิมพ์.

พระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ญาณสิทฺธิ). (2548). คำถาม-คำตอบ เรื่องวิปัสสนากรรมฐาน. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพมหานคร : มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตโต). (2546). พุทธธรรม ฉบับปรับปรุงและขยายความ. พิมพ์ครั้งที่ 46. กรุงเทพมหานคร: มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย.

พระราชพรหมาจารย์ (พระอาจารย์ทอง สิริมงฺคโล). (2548). คู่มือการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานในแนวสติปัฏฐาน 4. พิมพ์ครั้งที่ 10. เชียงใหม่: ดาราวัลย์การพิมพ์.

พระโสภณมหาเถระ (มหาสีสยาดอ). (2549). มหาสติปัฏฐานสูตร ทางสู่พระนิพพาน. แปลโดย พระคันธสาราภิวงศ์. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร: ไทยรายวันการพิมพ์.

มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. (2539). พระไตรปิฏกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

มูลนิธิวิปัสสนา (ทอง สิริมงฺคโล) วัดพระธาตุศรีจอมทอง. เปิดประตูสู่นิพพาน. เชียงใหม่: ดาราวัลย์การพิมพ์.

แม่ชีระวีวรรณ ธมฺมจารินี (ง่านวิสุทธิพันธ์). (2551). การศึกษาสภาวญาณเบื้องต้นของผู้เข้าปฏิบัติวิปัสสนาตามหลักสติปัฏฐาน 4 ณ สำนักวิปัสสนากรรมฐานวัดพระธาตุศรีจอมทอง วรวิหาร. บัณฑิตวิทยาลัย : มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

อณิวัชร์ เพชรนรรัตน์. (2549). การศึกษาวิเคราะห์ผลสัมฤทธิ์ในการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานตามแนวของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. บัณฑิตวิทยาลัย : มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

Doungkamon Tongkanaraksa. (2010). SUITABLE BUDDHIST MEDITATION RETREATS FOR FOREIGNERS IN THAILAND. Master of Art (Buddhist Studies). Graduate School : Mahachulalongkornrajavidyalaya University.

Mahasi Sayadaw. (1992). The Satipatthana Vipassana Meditation, Yangon (Myanmar) : Buddha Sasana Nuggaha Organization.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2019-08-19