การพัฒนาตัวแบบงานอนามัยแม่และเด็กระดับอำเภอ ที่เชื่อมโยงกับกลไก MCH Board ระดับจังหวัด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเข้าถึงบริการงานอนามัยแม่และเด็กและลดมารดาตายจังหวัดปทุมธานี ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563-2564
คำสำคัญ:
งานอนามัยแม่และเด็ก , MCH Boardบทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้ มุ่งศึกษากลไกการทำงานของ MCH Board ระดับจังหวัด/อำเภอ ทั้งจุดแข็ง จุดอ่อน ปัจจัยเอื้อ หรืออุปสรรค ในการทำงานของ MCH Board รวมทั้ง แนวทางการส่งเสริมและพัฒนา MCH Board ระดับอำเภอ เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงกับ MCH Board ระดับจังหวัดและนำไปสู่การพัฒนารูปแบบงานอนามัยแม่และเด็กผ่านกลไก MCH Board ระดับอำเภอ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการงานอนามัยแม่และเด็กและ ลดมารดาตาย จังหวัดปทุมธานี โดยออกแบบการวิจัยเป็นการวิจัยแบบผสมผสาน ทั้งการวิจัยเชิงปริมาณและ การวิจัยเชิงคุณภาพหลายขั้นตอน สร้างเป็นตัวแบบฯ นำไปทดสอบในพื้นที่ แล้วนำมาวิเคราะห์ซ้ำ จนสามารถสรุปเป็นตัวแบบการพัฒนารูปแบบงานอนามัยแม่และเด็ก ผ่านกลไก MCH Board ระดับอำเภอ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการงานอนามัยแม่และเด็กและลดมารดาตาย จังหวัดปทุมธานี
ผลการวิจัยพบว่า การปรับปรุงระบบงานและโครงสร้างของคณะกรรมการระดับจังหวัด/อำเภอ รวมทั้ง ความสม่ำเสมอในการประชุม ช่วยให้เกิดการสื่อสารการทำงานระหว่างจังหวัด อำเภอ และภาคีเครือข่ายการทำงานในระดับพื้นที่ที่ดีขึ้น ระบบสารสนเทศ ช่วยให้ผู้ทำงานได้รับความสะดวกสบาย ผู้รับบริการเข้าถึงข้อมูลได้มากขึ้น ระบบข้อมูลการรายงานที่ไม่มีความยุ่งยากซับซ้อน และมีการคืนข้อมูลให้กับพื้นที่ ทำให้ผู้ปฏิบัติงานไม่รู้สึกว่าเป็นภาระ และให้การดูแลหลังคลอดได้ครอบคลุมมากขึ้น ประการสำคัญ คือ ภาคีเครือข่ายการทำงาน เพราะการดำเนินงานอนามัยแม่และเด็กที่ประสบความสำเร็จ ไม่ได้จำกัดวงการทำงานอยู่เพียงบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขเท่านั้น แต่ความร่วมมือจากคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) นับเป็นอำนาจแข็ง (Hard Power) ที่สำคัญและสามารถดึงดูดความร่วมมือจากทุกส่วนงานในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี ในขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่งคณะทำงานย่อยๆ ภายในคณะกรรมการระดับอำเภอ กลับเป็นอำนาจอ่อน (Soft Power) ที่ยึดโยงใจของคนทำงาน โดยไม่ต้องรอการสั่งการและขั้นตอนของทางราชการที่อาจมีระยะเวลายาวนานได้
ทั้งนี้ เนื่องจากงานวิจัยนี้ มุ่งติดตามสองตัวชี้วัด คือ ร้อยละของหญิงตั้งครรภ์ได้รับการฝากครรภ์ครั้งแรกเมื่ออายุครรภ์ น้อยกว่า12 สัปดาห์ และร้อยละของหญิงตั้งครรภ์ได้รับการฝากครรภ์คุณภาพครบ 5 ครั้งตามเกณฑ์ ซึ่งมีบางปัจจัยที่ค้นพบระหว่างการสนทนากลุ่มและยังไม่ครอบคลุมในกรอบการวิจัยครั้งนี้ อาทิ ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับการใช้สารเสพติดระหว่างตั้งครรภ์ เช่น แม่บางท่านเชื่อว่าการเสพยาบ้าช่วยให้บุตร ในครรภ์แข็งแรงและคลอดง่าย ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องทำความเข้าใจทั้งในระดับพื้นที่และระดับมหภาคต่อไป หรือปัญหาเรื่องการเชื่อมโยงข้อมูลบริการข้ามหน่วยงาน/กระทรวง เช่น กรณีผู้รับบริการสิทธิบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือประกันสังคม รับบริการ ณ โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ หรือโรงพยาบาลเอกชน แต่ไม่มีการส่งข้อมูลการรับบริการคืนพื้นที่ เมื่อผู้รับบริการกลับเข้ามารับบริการจากหน่วยงานสังกัดกระทรวงสาธารณสุขในพื้นที่
Downloads
เผยแพร่แล้ว
How to Cite
ฉบับ
บท
License
บทความหรือข้อคิดเห็นใดๆ ในวารสารสหศาสตร์เป็นวรรณกรรมของผู้เขียนโดยเฉพาะ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และกองบรรณาธิการไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย
กองบรรณาธิการไม่สงวนสิทธิ์ในการคัดลอกบทความเพื่อการศึกษาแต่ให้อ้างอิงแหล่งที่มาให้ครบถ้วนสมบูรณ์
ท่านที่ประสงค์จะส่งบทความ ผลงานวิจัย ข้อคิดเห็นทางวิชาการลงตีพิมพ์วารสารสหศาสตร์ กรุณาส่งมาที่คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล