Green Zone Community Dynamics of the Bang Nam Pheung Community in Samut Prakan

ผู้แต่ง

  • ธนกฤต หิรัญสาย มหาวิทยาลัยมหิดล

คำสำคัญ:

Land utilization, changes, community dynamics, green zone

บทคัดย่อ

                 การศึกษาพลวัตชุมชนพื้นที่สีเขียว ของชุมชนบางน้ำผึ้ง จังหวัดสมุทรปราการ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงทางด้านกายภาพ เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมของชุมชน ในพื้นที่ชุมชนบางน้ำผึ้ง จังหวัดสมุทรปราการ ผู้วิจัยใช้ระเบียบวิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ ด้วยเทคนิคการสังเกตการณ์ การสัมภาษณ์เชิงลึก เป็นเครื่องมือในการศึกษากับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้ง 3 กลุ่ม จำนวน 28 ราย ผลการศึกษา พบว่า ตำบลบางน้ำผึ้งเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่คุ้งบางกระเจ้าหรือที่เรียกกันว่าเกาะกระเพาะหมู โดยสมัยอดีตพื้นที่บริเวณนี้เป็นพื้นที่สวนผลไม้ทั้งหมด ต่อมาในปี 2520 รัฐบาลมีนโยบายจะอนุรักษ์พื้นที่ในคุ้งบางกระเจ้าโดยการขอซื้อพื้นที่จากคนที่อยู่อาศัยในชุมชน ซึ่งเป็นพื้นที่ของชุมชนบางน้ำผึ้งประมาณ 103 ไร่ และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพื้นที่อนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรมตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา  ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของชุมชน ในประเด็นการเปลี่ยนแปลงทางด้านกายภาพ พบว่า รูปแบบการตั้งถิ่นฐานเปลี่ยนจากการตั้งถิ่นฐานตามริมคลองมาเป็นริมถนน รูปแบบการใช้ประโยชน์ที่ดินพื้นที่เกษตรกรรมมีจำนวนลดลงและพื้นที่อยู่อาศัยมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ประเด็นการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ พบว่า ในอดีตประกอบอาชีพทำสวนและในปัจจุบันเปลี่ยนมาเป็นประกอบอาชีพพนักงานบริษัทและอาชีพค้าขาย การผลิตเปลี่ยนจากใช้วิธีการแบบดั้งเดิมมาใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย การจำหน่ายเปลี่ยนจากการค้าขายทางน้ำมาเป็นบนบก ในประเด็นการเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคม พบว่า ขนาดครัวเรือนเปลี่ยนจากครอบครัวขยายมาเป็นครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น ความเข้มแข็งของชุมชนในอดีตการรวมกลุ่มทางสังคมยังไม่เป็นรูปแบบองค์กรที่ชัดเจนในปัจจุบันการรวมกลุ่มทางสังคมจะเป็นรูปแบบชัดเจนมากขึ้น ในประเด็นการเปลี่ยนแปลงทางด้านวัฒนธรรม พบว่า ลักษณะบ้านและที่อยู่อาศัยในอดีตบ้านพักอาศัยจะเป็นบ้านไม้ทรงไทยส่วนในปัจจุบันบ้านพักอาศัยส่วนใหญ่เป็นครึ่งปูนครึ่งไม้

                      ผลการศึกษาโดยการประยุกต์ใช้ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ ประเด็นรูปแบบการใช้ประโยชน์ที่ดิน พบว่า ในปี พ.ศ. 2534  มีพื้นที่เกษตรกรรม มากที่สุด จำนวน 614.66 ไร่ (ร้อยละ 45.75 ของพื้นที่ทั้งหมด) ในปี พ.ศ. 2560 พบว่า มีพื้นที่ว่างมากที่สุด จำนวน 684.40 ไร่ (ร้อยละ 50.94 ของพื้นที่ทั้งหมด) ในประเด็นการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน ระหว่างปี พ.ศ. 2534 ถึง ปี พ.ศ. 2560 มีเพียงพื้นที่เกษตรกรรมที่มีเนื้อที่ลดลงจากเดิมเป็นจำนวนมากถึง 284.19 ไร่ โดยพื้นที่ว่างมีการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินมากที่สุดมีเนื้อที่เพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 140.32 ไร่ ในประเด็นการคาดการณ์การใช้ประโยชน์ที่ดินในอนาคต พบว่า ระหว่างปี พ.ศ. 2570 ถึง ปี พ.ศ. 2580 พื้นที่อยู่อาศัยมีการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินเพิ่มขึ้นมากที่สุด 107.50 ไร่ ส่วนพื้นที่เกษตรกรรมมีปริมาณเนื้อที่ลดลงมากที่สุด เป็นจำนวน 0.04 ไร่

 

 

 

 

 

 

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2020-12-31