นาฏกรรมจากแนวคิดการประสูติของพระเยซู

ผู้แต่ง

  • ธรากร จันทนะสาโร สาขาวิชานาฏศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

คำสำคัญ:

นาฏกรรมสร้างสรรค์, ศาสนาคริสต์, พระคัมภีร์ไบเบิล, นาฏกรรมหลังสมัยใหม่, การประสูติของพระเยซู

บทคัดย่อ

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ คือ 1) ศึกษาประวัติและแนวคิดการประสูติของพระเยซู และ 2) สร้างสรรค์นาฏกรรมจากแนวคิดการประสูติของพระเยซู ใช้ระเบียบวิธีดำเนินการวิจัยแบบผสมผสานระหว่างการวิจัยเชิงสร้างสรรค์และการวิจัยเชิงคุณภาพ เครื่องมือในการวิจัย ได้แก่ แหล่งข้อมูลเชิงเอกสารสำคัญ การสัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้อง และการฝึกปฏิบัติและทดลองด้านนาฏกรรม โดยใช้วิธีการวิเคราะห์ข้อมูลผ่านวิธีการวิเคราะห์เนื้อหา (Content analysis) และวิธีการวิเคราะห์เอกสาร (Document analysis)

ผลการวิจัย สรุปได้ว่า 1) พระเยซูเป็นชายชาวยิว ซึ่งเกิดในประเทศปาเลสไตน์ ที่เมืองเบธเลเฮม แคว้นยูเดีย เมื่อประมาณ 3-4 ปีก่อนคริสตศักราช ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ปาเลสไตน์อยู่ใต้อำนาจของโรม ในรัชกาลของออกัสตัส ซีซาร์ พระเยซูสืบเชื้อสายมาจากกษัตริย์ดาวิด เป็นบุตรชายคนแรกของโยเซฟและมารีย์ พระองค์มีน้องชายชื่อ ยากอบ โยเศศ ยูดาส ซีโมน และมีน้องสาวด้วย ครอบครัวของพระเยซูเป็นชนชั้นกลางธรรมดาที่หัวหน้าครอบครัวประกอบอาชีพช่างไม้ ตั้งถิ่นฐานที่เมืองนาซาเร็ธ ในแคว้นกาลิลี ทำให้พระองค์ได้รับการเรียกว่า “เยซูชาวนาซาเร็ธ” พระองค์เริ่มประกอบภารกิจด้านศาสนาเมื่อทรงมีพระชนมายุประมาณ 30 พรรษา และสิ้นพระชนม์เมื่อมีพระชนมายุประมาณ 33 พรรษา ในสมัยพระเจ้าติเบริยุส จักรพรรดิองค์ที่ 2 ของโรมัน โดยสาระสำคัญดังกล่าวปรากฏในเรื่องย่อที่อยู่ในพระวรสาร 4 เล่ม ที่เขียนโดยนักบุญมัทธิว นักบุญมาระโก นักบุญลูกา และนักบุญยอห์น ล้วนมีเนื้อหาเกี่ยวกับชีวิตและคำสอนของพระเยซู และ 2) การสร้างสรรค์นาฏกรรม แบ่งเป็น 3 องค์ประกอบ ได้แก่ แนวคิดการแสดง แบ่งออกเป็น 3 องก์ ได้แก่ องก์ที่ 1 พระวิญญาณบริสุทธิ์ นำเสนอแนวคิดการตั้งครรภ์ด้วยเดชพระวิญญาณบริสุทธิ์ ซึ่งหมายถึง การตั้งครรภ์จากพระจิตของพระเจ้าผ่านหญิงสาวพรหมจรรย์ องก์ที่ 2 มารีย์ นำเสนอแนวคิดการประสูติของพระเยซู โดยมารีย์ให้กำเนิดบุตรชายและวางไว้ในรางหญ้า ทูตสวรรค์ประกาศการกำเนิดของพระเยซูแก่คนเลี้ยงแกะ และมีการสรรเสริญพระเจ้าเพราะรู้ว่าพระเยซูเป็นพระเมสสิยาห์ และองก์ที่ 3 การกลับเป็น นำเสนอแนวคิดการฟื้นคืนชีพของพระเยซูหลังจากที่โดนตรึงกางเขน นักแสดง ผู้วิจัยใช้แนวคิดของนาฏกรรมหลังสมัยใหม่ (Postmodern dance) มาเป็นแนวทาง โดยคัดเลือกนักแสดง 1 คน เพื่อให้สอดคล้องกับแนวคิดในลักษณะนามธรรมที่หลากหลายผ่านทักษะของผู้แสดง และการเคลื่อนไหวร่างกาย ใช้แนวคิดนาฏกรรมหลังสมัยใหม่ และการเคลื่อนไหวแบบมีไหวพริบ (Movement improvisation) แล้วคัดเลือกท่าทางของนักแสดงมาเชื่อมต่อและร้อยเรียงกันใหม่ ผ่านการขัดเกลาลักษณะเฉพาะของการเคลื่อนไหวให้เหมาะสมกับการแสดง โดยการนำสัญลักษณ์ที่พบในพระวรสารทั้ง 4 ได้แก่ นกพิราบ และน้ำ มาใช้เป็นเครื่องมือหนึ่งในการประกอบสร้างการเคลื่อนไหวให้สอดคล้องกับองก์ของการแสดง

References

ชาตรี ชุมเสน. (2553). ศาสนาเปรียบเทียบ. อุดรธานี: มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี.

ณรงค์ คุ้มมณี. (2557). บทอัศจรรย์: นาฏยศิลป์ไทยร่วมสมัยจากแนวคิดวรรณคดีไทย (วิทยานิพนธ์ปริญญาดุษฎีบัณฑิต). จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, กรุงเทพมหานคร.

ธรากร จันทนะสาโร. (2563). นาฏศิลป์จากทรรศนะเรื่องความตายในศาสนาพุทธแบบวัชรยานของทิเบต. วารสารสถาบันวัฒนธรรมและศิลปะ, 22(1), 112-125.

นราพงษ์ จรัสศรี. สัมภาษณ์ เมื่อ 5 พฤศจิกายน 2564

พนมกร คำวัง. (2560). ปรัชญาประพณีของศาสนาคริสต์ที่มีอิทธิพลต่อสังคมไทย. วารสารพุทธมัคค์, 2(1), 15-21.

ภัทรพร สิริกาญจน. (2546). ศาสนาคริสต์. ใน ภัทรพร สิริกาญจน (บรรณาธิการ), ความรู้พื้นทางฐานทางศาสนา (พิมพ์ครั้งที่ 4) (หน้า63-80). กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

รักษ์สินี อัครศวะเมฆ. สัมภาษณ์ เมื่อ 11 กันยายน 2564

วิชุตา วุธาทิพตย์. สัมภาษณ์ เมื่อ 5 พฤศจิกายน 2564

สุวรรณา ชัยพรแก้ว. (2549). การสื่อสารกับภาวะผู้นำของพระเยซูในพระวรสารทั้งสี่ (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต). จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, กรุงเทพมหานคร.

Dreyer, K. (2020). Dance and light: The partnership between choreography and lighting design. New York: Routledge.

Hackett, C., & McClendon, D. (2017). Christians remain world’s largest religious group, but they are declining in Europe. Retrieved 25 December 2019, from https://www.pewresearch.org/fact-tank/2017/04/05/christians-remain-worlds-largest-religious-group-but-they-are-declining-in-europe/

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2023-06-29