การพัฒนาแบบฝึกเพื่อส่งเสริมทักษะพื้นฐานกีฬาเซปักตะกร้อ และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3
Main Article Content
บทคัดย่อ
ในการวิจัยครั้งนี้เป็นการศึกษาเพื่อพัฒนาแบบฝึกเพื่อส่งเสริมทักษะพื้นฐานกีฬาเซปักตะกร้อ และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โดยมีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อพัฒนาแบบฝึกเพื่อส่งเสริมทักษะพื้นฐานกีฬาเซปักตะกร้อ ให้มีประสิทธิภาพ 80/80 และมีค่าดัชนีประสิทธิผลไม่น้อยกว่า 0.5 2) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียนและหลังเรียน 3) เพื่อเปรียบเทียบทักษะพื้นฐานก่อนเรียนและหลังเรียน และ 4) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียนด้วยแบบฝึกเพื่อส่งเสริมทักษะพื้นฐานกีฬาเซปักตะกร้อและผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ใช้รูปแบบการวิจัยแบบหนึ่งกลุ่มทดสอบก่อนและหลังเรียนซึ่งกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ เป็นนักเรียนชั้น มัธยมศึกษาปีที่ 3/3 โรงเรียนกุงเจริญพิทยาคม อำเภอศรีธาตุ จังหวัดอุดรธานี สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี ปีการศึกษา 2558 จำนวน 25 คน ซึ่งได้มาโดยการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ แบบฝึกเพื่อส่งเสริมทักษะพื้นฐาน
กีฬาเซปักตะกร้อ และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 10 ชุด แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนกีฬาเซปักตะกร้อ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 40 ข้อ แบบทดสอบย่อยประจำแบบฝึกเพื่อส่งเสริมทักษะพื้นฐานกีฬาเซปักตะกร้อแต่ละชุด จำนวน 10 ชุด และแบบสอบถามความพึงพอใจที่มีต่อแบบฝึกเพื่อส่งเสริมทักษะพื้นฐานกีฬาเซปักตะกร้อ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 20 ข้อ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลได้แก่ ค่าเฉลี่ย ร้อยละ ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ดัชนีประสิทธิผลของแบบฝึกเพื่อส่งเสริมทักษะพื้นฐานกีฬาเซปักตะกร้อ และทดสอบ สมมติฐานโดยใช้ t – test (Dependent Sampling)
ผลการวิจัย พบว่า
1) แบบฝึกเพื่อส่งเสริมทักษะพื้นฐานกีฬาเซปักตะกร้อ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีประสิทธิภาพ 82.32/82.10 และค่าดัชนีประสิทธิผลของแบบฝึกเพื่อส่งเสริมทักษะพื้นฐานกีฬาเซปักตะกร้อ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เท่ากับ .6462 แสดงว่า นักเรียนมีความก้าวหน้าทางการเรียนเพิ่มขึ้นหลังจากเรียนด้วยแบบฝึกเท่ากับ ร้อยละ 64.62
2) ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และ
3) ทักษะพื้นฐานหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
4) นักเรียนมีความพึงพอใจต่อการเรียนด้วยแบบฝึกเพื่อส่งเสริมทักษะพื้นฐานกีฬาเซปักตะกร้อชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีค่าเฉลี่ยโดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด ( =4.75, S.D. =0.47)