แนวทางการถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นการทอผ้าไหมสู่คนรุ่นใหม่ของกลุ่มทอผ้าไหมบ้านหนองแข้ ตำบลตองโขบ อำเภอโคกศรีสุพรรณ จังหวัดสกลนคร
Main Article Content
Abstract
แนวทางการถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นการทอผ้าไหมสู่คนรุ่นใหม่ของกลุ่มทอผ้าไหมบ้านหนองแข้ ตำบลตองโขบ อำเภอโคกศรีสุพรรณ จังหวัดสกลนคร
Guidelines of TRANSFERING Local Wisdom oF THE silk weaving GROUP in Nong KHae Village, Tongkhob Sub-district, Khoksisuphan District, Sakon Nakhon Province TO THE NEW GENERATION
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้ มีความมุ่งหมาย 1) เพื่อศึกษาสภาพปัญหา ภูมิปัญญาท้องถิ่นการทอผ้าไหมของกลุ่มทอผ้าไหมบ้านหนองแข้ ตำบลตองโขบ อำเภอโคกศรีสุพรรณ จังหวัดสกลนคร และ 2) เพื่อศึกษาแนวทาง การถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นการทอผ้าไหมสู่คนรุ่นใหม่ของกลุ่มทอผ้าไหมบ้านหนองแข้ ตำบลตองโขบ อำเภอโคกศรีสุพรรณ จังหวัดสกลนคร ใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) และวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) กลุ่มเป้าหมายในการวิจัยเลือกแบบเฉพาะเจาะจง จำนวน 33 คน ได้แก่ ผู้ถ่ายทอดภูมิปัญญาที่มีประสบการณ์การทอผ้าไหม 20 ปีขึ้นไป จำนวน 12 คน คนรุ่นใหม่ที่มีประสบการณ์การทอผ้าไหมไม่เกิน 7 ปี จำนวน 8 คน ผู้นำชุมชน จำนวน 5 คน เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานการพัฒนาชุมชน จำนวน 3 คน และผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 5 คน เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา คือ การศึกษาเอกสาร การสัมภาษณ์เชิงลึก การสนทนากลุ่ม และการประเมินความเหมาะสมของแนวทางการถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นการทอผ้าไหม วิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์เนื้อหา (Content analysis) และวิธีหาค่าเฉลี่ยและค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน สรุปผลการวิจัย ดังนี้
1. ผลการศึกษาสภาพปัญหาการถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นการทอผ้าไหมของกลุ่มทอผ้าไหมบ้านหนองแข้ ตำบลตองโขบ อำเภอโคกศรีสุพรรณ จังหวัดสกลนคร พบว่า กลุ่มทอผ้าไหมบ้านหนองแข้ มีการถ่ายทอดภูมิปัญญาในลักษณะแม่สอนลูก ยายสอนหลาน ใช้วิธีการสาธิตของผู้ถ่ายทอดภูมิปัญญา และการฝึกปฏิบัติของผู้รับการถ่ายทอดภูมิปัญญา ปัญหาและอุปสรรคของการถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นการทอผ้าไหมของกลุ่มทอผ้าไหมบ้านหนองแข้ มีดังนี้ 1) ผู้รับการถ่ายทอดภูมิปัญญาไม่เอาใจใส่ฝึกฝน 2) ผู้รับการถ่ายทอดภูมิปัญญาใจร้อนทำให้งานไม่ประณีต 3) ผู้รับการถ่ายทอดภูมิปัญญามีความเข้าใจช้า 4) เทคโนโลยีสมัยใหม่ทำให้คนรุ่นใหม่ ไม่สนใจที่จะอนุรักษ์สืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นการทอผ้าไหม 5) ด้านการตลาดที่มีการแข่งขันสูง คนรุ่นใหม่จึงสนใจไปประกอบอาชีพอื่น และ 6) การส่งเสริมของภาครัฐที่เน้นส่งเสริมด้านการผลิตมากกว่าด้านการตลาด ทำให้ผ้าไหมจำหน่ายได้น้อย คนรุ่นหลังจึงสนใจไปประกอบอาชีพอื่น
2. ผลการศึกษาแนวทางการถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นการทอผ้าไหมสู่คนรุ่นใหม่ของกลุ่มทอผ้าไหมบ้านหนองแข้ ตำบลตองโขบ อำเภอโคกศรีสุพรรณ จังหวัดสกลนคร มี 8 ด้าน คือ 1) ด้านหลักการ 2) ด้านวัตถุประสงค์ 3) ด้านวิธีการถ่ายทอดภูมิปัญญา เป็นการถ่ายทอดโดยใช้วิธีสาธิตและวิธีปฏิบัติจริงในการถ่ายทอด 4) ด้านการถ่ายทอดด้วยสื่อบุคคลภายในชุมชน โดยผู้ถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นการทอผ้าไหมในชุมชน เป็นผู้ถ่ายทอดไปยังผู้รับการถ่ายทอดโดยตรง ทั้งการพูดคุยและการปฏิบัติ 5) ด้านภูมิปัญญาท้องถิ่นการทอผ้าไหม ได้แก่ การสาวไหม การฟอกไหม การย้อมเส้นไหม การกวักไหม การทำเส้นยืน การสืบหูก การมัดหมี่ และการทอผ้าไหม 6) ด้านการถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นผ่านลายผ้าไหม มีทั้งลายโบราณและลายประยุกต์ 7) ด้านการวัดและประเมินผล และ 8) ด้านการส่งเสริมให้คนรุ่นหลังอนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น จากการประเมินความเหมาะสมของแนวทางการถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นการทอผ้าไหมสู่คนรุ่นใหม่ของกลุ่มทอผ้าไหมบ้านหนองแข้ พบว่า มีความเหมาะสมในระดับมาก
Article Details
บทความทุกบทความที่ตีพิมพ์ในวารสารบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ถือว่าเป็นลิขสิทธิ์ของบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร