สภาพ ปัญหา และแนวทางการปรับปรุงการนิเทศภายในโรงเรียนมัธยมศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเขต 20
Main Article Content
Abstract
บทคัดย่อ
การวิจัยนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาสภาพ ปัญหา และแนวทางการปรับปรุงการนิเทศภายในโรงเรียนมัธยมศึกษา 4 ด้าน ซึ่งประกอบด้วย การวางแผนเตรียมการ การดำเนินการปฏิบัติตามแผน การกำกับตรวจสอบการปฏิบัติการ และการปรับปรุงแก้ไขการดำเนินการ ผู้ให้ข้อมูลประกอบด้วยครูผู้สอน จำนวน 276 คน และผู้บริหารสถานศึกษา จำนวน 13 คน เครื่องมือการวิจัย ประกอบด้วย แบบสอบถามแบบมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ แบบสอบถามแบบเลือกตอบ และแบบสัมภาษณ์ผู้บริหารสถานศึกษา สถิติที่ใช้ในการนำเสนอข้อมูล ประกอบด้วย ค่าเฉลี่ย ร้อยละ ความเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบค่าวิกฤติที การวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว และค่าฉันทามติ ผลการวิจัยปรากฏดังนี้
1. สภาพการดำเนินการการนิเทศภายในของโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ โดยรวมและทุกรายด้าน สามารถปฏิบัติได้จริงในระดับมาก
2. ปัญหาสำคัญของการดำเนินการการนิเทศภายในของโรงเรียนด้านการวางแผนเตรียมการ ได้แก่ ครูขาดความเข้าใจ และไม่ตระหนักรู้ต่อกระบวนการนิเทศภายใน แนวทางการปรับปรุงแก้ไขประเด็นนี้ ด้วยการประชุม ชี้แจง และอบรมครูให้ทราบถึงกระบวนการ และความสำคัญของการนิเทศภายใน
3. ปัญหาสำคัญของการดำเนินการการนิเทศภายในด้านการดำเนินการปฏิบัติตามแผน ได้แก่ ครูไม่ให้ความสำคัญกับกิจกรรมการนิเทศภายใน และโรงเรียนไม่มีคู่มือให้ครูปฏิบัติ แนวทางการปรับปรุงแก้ไขประเด็นนี้ ได้แก่ ดำเนินการกำกับติดตามผลการนิเทศ และจัดทำคู่มือให้ครูได้ยึดถือเป็นแนวทางในการปฏิบัติ
4. ปัญหาสำคัญของการดำเนินการการนิเทศภายในด้านการกำกับตรวจสอบการปฏิบัติการ เกี่ยวข้องกับการดำเนินการนิเทศไม่เป็นไปตามปฏิทินการปฏิบัติงาน และครูขาดการเตรียมความพร้อมเพื่อรับการนิเทศ แนวทางการปรับปรุงแก้ไขประเด็นดังกล่าว โดยปรับการปฏิบัติงานให้มีความยืดหยุ่นและมีคู่มือการปฏิบัติงานที่ชัดเจน
5. ปัญหาสำคัญของการดำเนินการการนิเทศภายในด้านการปรับปรุงแก้ไขการดำเนินการ เกี่ยวข้องกับโรงเรียนไม่นำผลการนิเทศภายในปรับปรุงและพัฒนางานการบริหารโรงเรียน แนวทางการปรับปรุงแก้ไขประเด็นนี้ โดยให้คณะกรรมการดำเนินการนิเทศภายในรายงานผลการนิเทศต่อผู้บริหาร และผู้บริหารนำผลการนิเทศเพื่อใช้เป็นข้อมูลในการการพิจารณาความดีความชอบประจำปีของครู
Article Details
บทความทุกบทความที่ตีพิมพ์ในวารสารบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ถือว่าเป็นลิขสิทธิ์ของบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร