การพัฒนารูปแบบการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ตามแนวคิดโฟร์แม็ทซีสเต็มเน้น การสืบเสาะเพื่อพัฒนาความสามารถในการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ของเด็กปฐมวัย

Main Article Content

ละดา ดอนหงษา

Abstract

บทคัดย่อ


          การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) พัฒนารูปแบบการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ตามแนวคิดโฟร์แม็ทซีสเต็มเน้นการสืบเสาะ 2) ศึกษาผลการใช้รูปแบบการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ตามแนวคิดโฟร์แม็ทซีสเต็ม เน้นการสืบเสาะ ดังนี้  2.1) ศึกษาและเปรียบเทียบความสามารถในการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ของเด็กปฐมวัย ระหว่างก่อนและหลังการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ตามรูปแบบ 2.2) เปรียบเทียบความสามารถในการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ของเด็กปฐมวัยระหว่างกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม 2.3) ศึกษาความพึงพอใจของเด็กปฐมวัยต่อการเรียนรู้ตามรูปแบบการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ตามแนวคิดโฟร์แม็ทซีสเต็มเน้นการสืบเสาะ


           ดำเนินการวิจัยและพัฒนา (R and D) เป็น 4 ขั้น คือ ขั้นที่ 1 การวิจัย (Research : R1) ศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐาน (Analysis : A) ขั้นที่ 2 การพัฒนา (Development : D1)  เป็นการออกแบบและพัฒนารูปแบบ (Design and Development) โดยการตรวจสอบความเหมาะสมและความเป็นไปได้โดยผู้เชี่ยวชาญและการศึกษานำร่อง ขั้นที่ 3 การวิจัย  (Research : R2)  เป็นการนำรูปแบบไปใช้จริง (Implement : I) กลุ่มตัวอย่างเป็นเด็กปฐมวัยชั้นอนุบาล 2 โรงเรียนอนุบาลหนองบัวลำภู จังหวัดหนองบัวลำภู ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2559 ระยะเวลาในการทดลอง 6 สัปดาห์ จำนวน 6 หน่วยการเรียนรู้ สุ่มกลุ่มตัวอย่างโดยการจับฉลากเป็นห้องทดลอง 1 ห้อง จำนวน 20 คน และห้องควบคุม 1 ห้อง จำนวน 18 คน ขั้นที่ 4 การพัฒนา  (Development : D2) เป็นการศึกษาผลการประเมินและปรับปรุงรูปแบบ (Evaluation : E) เครื่องมือวิจัย ได้แก่ คู่มือรูปแบบ แบบประเมินรูปแบบ แบบสังเกตพฤติกรรมและแบบทดสอบความสามารถในการคิดแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ของเด็กปฐมวัย แบบสังเกตความพึงพอใจ ทำการวิเคราะห์ข้อมูลโดยหา ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบค่า t ผลการวิจัย พบว่า 1) รูปแบบการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ตามแนวคิดโฟร์แม็ทซีสเต็มเน้นการสืบเสาะประกอบด้วย หลักการ  วัตถุประสงค์  กระบวนการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ แผนการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ และการประเมินผลรูปแบบ รูปแบบมีความเหมาะสมมากที่สุด 2) ผลการศึกษานำร่อง พบว่า พฤติกรรมความสามารถในการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ และความสามารถในการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ของเด็กอนุบาล 2 อยู่ในระดับดี 3) ผลการนำรูปแบบไปใช้จริง พบว่า 3.1) ความสามารถในการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ของเด็กอนุบาล 2 หลังการจัดประสบการณ์สูงกว่าก่อนการจัดประสบการณ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 3.2) ความสามารถในการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ของเด็กอนุบาล 2 กลุ่มทดลองสูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 และ 3.3) เด็กอนุบาล 2 มีความพึงพอใจต่อการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ตามรูปแบบในระดับดี


 


 

Article Details

Section
บทความวิจัย