แนวทางส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการสอนของครูในสถานศึกษาภาคเอกชน เขตเทศบาลเมืองไกสอนพมวิหาน แขวงสะหวันนะเขต สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
Main Article Content
Abstract
การวิจัยครั้งนี้ มีความมุ่งหมายเพื่อ 1) เพื่อศึกษาสภาพปัญหาการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการสอนของครูฯ 2) เพื่อศึกษาความต้องการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการสอนของครูฯ และ 3) เพื่อหาแนวทางส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการสอนของครูในสถานศึกษาภาคเอกชนเขตเทศบาล เมืองไกสอนพมวิหาน แขวงสะหวันนะเขต สปป.ลาว ประชากรและกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย เป็นผู้บริหารและครูในสถานศึกษาเอกชน จำนวน 6 วิทยาลัย เขตเทศบาลเมืองไกสอนพมวิหาน แขวงสะหวันนะเขต สปป.ลาว รวมจำนวน 146 คน เครื่องมือวิจัย เป็นสอบถามที่สร้างขึ้นมาใหม่ ผ่านการทดสอบคุณภาพทั้งด้านความเที่ยงตรงเชิงเนื้อหา (Content Validity) และความเชื่อมั่น (Reliability) สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการวิจัย พบว่า
1. สภาพปัญหาการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการสอนของครูฯ ในภาพรวมทั้ง 3 ด้าน อยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ด้านที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุดคือ ด้านสื่อการเรียนรู้ รองลงมาคือ ด้านการติดต่อสื่อสาร และด้านการจัดการเรียนการสอน ตามลำดับ
2. ความต้องการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการสอนของครูฯ ภาพรวมทั้ง 3 ด้าน อยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ด้านที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุดคือ ด้านสื่อการเรียนรู้ รองลงมาคือ ด้านการจัดการเรียนการสอน และ ด้านการติดต่อสื่อสาร ตามลำดับ
3. แนวทางส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการสอนของครูฯ มีแนวทางในแต่ละด้าน ดังนี้
3.1 ด้านการจัดการเรียนการสอน ควรส่งเสริมให้ครูมีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการสืบค้นข้อมูลเพื่อการเรียนการสอน การผลิตบทเรียนออนไลน์สำเร็จรูป (e-Learning) การจัดทำสื่อการเรียนการสอนบนสื่อสังคมออนไลน์ การจัดหาหรือพัฒนาระบบสารสนเทศที่จำเป็น และควรมีแผนและหลักสูตรการพัฒนาฝึกอบรมครูให้มีความรู้ ความสามารถและทักษะในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อนำไปใช้ในการสอน
3.2 ด้านการติดต่อสื่อสาร ควรจัดหาเครื่องมือสื่อสารที่จำเป็นต้องใช้ในการติดต่อประสานงานของครูและบุคลากร เช่น คอมพิวเตอร์ประชุมทางไกล ระบบการเรียนการสอนทางไกล โปรแกรมแชทต่างๆ เป็นต้น การจัดทำเว็บไซต์เพื่อการเผยแพร่ข่าวสารของทางวิทยาลัย การจัดหาระบบการสื่อสารไร้สาย และสนับสนุนการให้ใช้ทรัพยากรทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศภายในสถานศึกษาร่วมกัน (Pool Resource)
3.2 ด้านการติดต่อสื่อสาร ควรจัดหาเครื่องมือสื่อสารที่จำเป็นต้องใช้ในการติดต่อประสานงานของครูและบุคลากร เช่น คอมพิวเตอร์ประชุมทางไกล ระบบการเรียนการสอนทางไกล โปรแกรมแชทต่างๆ เป็นต้น การจัดทำเว็บไซต์เพื่อการเผยแพร่ข่าวสารของทางวิทยาลัย การจัดหาระบบการสื่อสารไร้สาย และสนับสนุนการให้ใช้ทรัพยากรทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศภายในสถานศึกษาร่วมกัน (Pool Resource)
3.3. ด้านสื่อการเรียนรู้ ควรจัดฝึกอบรมการใช้สื่อการเรียนรู้ทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีอยู่ ควรมีการใช้อินทราเน็ตหรืออินเทอร์เน็ตในการสร้างเครือข่ายทางวิชาการ หรือแลกเปลี่ยนความรู้ภายในและระหว่างสถานศึกษา และควรมีการวัดประเมินผลครูในการใช้สื่อการเรียนรู้ในการสอน
Article Details
บทความทุกบทความที่ตีพิมพ์ในวารสารบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ถือว่าเป็นลิขสิทธิ์ของบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร