ความเสมอภาคทางการศึกษาในสังคมไทย : ประเด็นปัญหาและทางออกจากการสังเคราะห์งานวิจัยภายใต้กรอบการวิจัยความเท่าเทียมด้านโอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษาขั้นพื้นฐาน ของ สกว. ฝ่ายชุมชนและสังคม

Main Article Content

รองศาสตราจารย์ ดร.ทนงศักดิ์ คุ้มไข่น้ำ

Abstract

ความเสมอภาคทางการศึกษาในสังคมไทย : ประเด็นปัญหาและทางออกจากการสังเคราะห์งานวิจัยภายใต้กรอบการวิจัยความเท่าเทียมด้านโอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษาขั้นพื้นฐาน ของ สกว. ฝ่ายชุมชนและสังคม
EDUCATIONAL EQUALITY IN THAILAND: RESEARCH SYNTHESIS WITHIN THE RESEARCH FRAMEWORK OF EQUALITY AND OPPORTUNITY FOR FUNDAMENTAL EDUCATION

 

บทคัดย่อ

การศึกษานี้เป็นผลการสังเคราะห์งานวิจัยที่ได้รับทุนสนับสนุนจาก สกว. ในปีงบประมาณ 2557 จำนวน 4 โครงการ เพื่อหาวิธีจัดการให้เกิดความเท่าเทียมทางการศึกษาขั้นพื้นฐานในเยาวชนไทย 4 โครงการ ได้แก่ 1) “การปรับแต่งและอำนวยความสะดวกในการสอนผู้เรียนที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ในห้องเรียนร่วมระดับประถมศึกษา” 2) “การสร้างเครือข่ายความร่วมมือพหุภาคีเพื่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนขนาดเล็ก” 3) “การออกแบบสื่อเพื่อการจัดการเรียนรู้วิชาศิลปะสาขาทัศนศิลป์อย่างเต็มรูปแบบสําหรับนักเรียนตาบอดสนิทระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย” 4) “การวิเคราะห์ปัจจัยเสี่ยงและวางรูปแบบการป้องกันความเสี่ยงในการออกกลางคันของนักเรียนโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามภายในเขตพัฒนาเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้”

            จากการศึกษารายงานวิจัยประกอบกับการสนทนาและประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกับผู้ดำเนินการวิจัย โครงการละ 4 ครั้ง รวมถึงการออกติดตามสังเกตขณะทำการวิจัย และสนทนากับกลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมวิจัยโครงการละ 2 ครั้ง พบว่า กลุ่มเป้าหมายทั้ง 4 กลุ่ม มีความพอใจที่ได้รับการตอบสนองทางการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อให้เกิดความเสมอภาคและเท่าเทียม อย่างไรก็ตามทุกกลุ่มพบสถานการณ์ความไม่เสมอภาคทางการศึกษา เนื่องจาก 1) ข้อจำกัดทางร่างกายในกลุ่มเด็กบกพร่องทางการเรียนรู้และการมองเห็น 2) ปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคม ทำให้เกิดโรงเรียนขนาดเล็กได้งบประมาณน้อย จัดการเรียนไม่ได้มาตรฐาน เกิดปัญหาการวินิจฉัยผิดในกลุ่มเด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ และ
3) ปัญหาค่านิยมด้านเพศภาวะ วัฒนธรรมและแนวปฏิบัติทางศาสนา นักเรียนหญิงในโรงเรียนสอนศาสนามุสลิมต้องออกจากโรงเรียนกลางคัน และมีปัญหาการเข้าไม่ถึงทรัพยากรการเรียนและบริการพื้นฐาน ตามบริบทของกลุ่ม พื้นที่อาศัยและสังคมแวดล้อม เด็กและเยาวชนถูกตราบาปกลายเป็นคนชายขอบ ไม่ถูกใช้ประโยชน์ ทำให้เกิดองค์กรและชุมชนอ่อนแอเหนือสิ่งอื่นใดทั้ง 4 โครงการวิจัยนี้ยืนยันว่า กลุ่มเป้าหมายต้องการการจัดสรรงบประมาณที่เป็นธรรมแทนการยุบโรงเรียนขนาดเล็ก มีอุปกรณ์ โปรแกรมการเรียนและครูที่เหมาะสมกับการศึกษาพิเศษและครูจบวิชาเฉพาะ สามารถสอนให้นักเรียนเก่ง ดี มีสุข ได้โอกาสในการทำงาน มีรายได้ มีครอบครัวมั่นคง มีคุณภาพชีวิตที่ดีในอนาคตเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่

Article Details

Section
บทความวิจัย